ครม. ไฟเขียวรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 โคราช-หนองคาย เชื่อมโครงการรถไฟลาว – จีน

   เมื่อ : 05 ก.พ. 2568

            4 ก.พ. 2568 เปิด มติ ครม. โครงการรถไฟความเร็วสูง (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้ 

            1. อนุมัติให้ดำเนินการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย (โครงการฯ ระยะที่ 2) ในกรอบวงเงินงบประมาณ 341,351.42 ล้านบาท โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีอำนาจในการปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณ ดังนี้ 

รายละเอียดด้านงบประมาณ เงื่อนไข

1) ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน   อยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการ

2) ค่าควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา   

3) ค่าบริหารโครงการและควบคุมงานติดตั้งงานระบบรถไฟ   

4) ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ   

5) ค่าก่อสร้างงานโยธา   

6) ค่าติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกลและจัดหาขบวนรถไฟ   

7) รายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญ   

โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (งบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2575) และให้ดำเนินการจัดจ้างตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

            2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปี และ/หรือกระทรวงการคลัง จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโดยใช้เงินกู้ เห็นควรให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) และให้ สงป. จัดสรรงบประมาณสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้ รฟท. ด้วย

            3. เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการโครงการควรมีการมอบหมาย ดังนี้

หน่วยงาน การมอบหมาย

1) หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ก่อสร้างของโครงการ ดำเนินกระบวนการเกี่ยวกับการอนุญาตใช้พื้นที่ และส่งมอบพื้นที่ให้ รฟท. ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ หรือภายในระยะเวลาที่ระเบียบของหน่วยงานหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

2) กรมที่ดิน ออกเอกสารสิทธิของที่ดินเอกชนที่ถูกเวนคืน ให้ดำเนินกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินประกาศใช้ หรือภายในระยะเวลาที่ระเบียบของหน่วยงานหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

3) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีส่วนเกี่ยวข้องในความรับผิดชอบการขยายเขตไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับโครงการ

4) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดการนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนในส่วนการเดินรถช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา และนครราชสีมา – หนองคาย และงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ได้ในช่วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างงานโยธาและการเปิดให้บริการ

             ครม. อนุมัติรถไฟความเร็วสูงเฟส 2 โคราช-หนองคาย 357.12 กม. เชื่อมรถไฟลาวที่เวียงจันทน์ถึงจีน  ขณะที่ นายกฯ เร่งรัดเฟสแรก กทม.- โคราช 253 กม. หลังสร้างช้ากว่ากำหนด

             นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมครม. ครั้งที่ 5 ประจำปี 2568 กระทรวงคมนาคมได้เสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบฯ 2568 - 2575) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

            เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมา ครม. มีมติเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560 ที่อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม. - หนองคาย (โครงการฯ ระยะที่ 1) กทม. - นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบฯ 2560 - 2563) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าโดยรวมร้อยละ 35.74 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

            กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่

            ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ (1) สถานีบัวใหญ่ (2) สถานีบ้านไผ่ (3) สถานีขอนแก่น (4) สถานีอุดรธานี และ (5) สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบฯ 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบฯ 2575 (รวม 8 ปี)

            ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า - ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทยและขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว – จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) 

            สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 เมื่อพิจารณา EIRR (Economic Internal Rate of Return) เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 13.23 ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อประเมินอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน อีกทั้งคณะกรรมการการรถไฟฯ มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment Report) ของโครงการฯ ระยะที่ 2 ด้วยแล้ว โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้สรุปความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

• สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง เสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว 

• ให้การรถไฟฯ ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการขอให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว จากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการโครงการฯ ระยะที่ 2 โดยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ดำเนินการตามความเห็นของสภาพัฒน์ฯ ก่อนดำเนินการต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาด้วย โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป