กรมโยธาฯ Kick Off โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ พัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ จ.อุบลฯ
9 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม Kick off โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวรายงาน นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระครูโสภณอาภากร เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน พระครูปิยจันทคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าจันทราวาส หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา ภาคีเครือข่ายและประชาชน ที่บริเวณตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องน้ำ เป็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญระดับชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการและออกแบบการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติให้กับพี่น้องประชาชน โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของ 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามมิติการพัฒนาทั้ง 5 มิติ คือมิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบแห่งนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่คลังยา คลังอาหาร ของชุมชนบ้านวังอ้อแล้ว ยังใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ สร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ ภายใต้แนวคิด ”ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better life”
ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดนครนายก จังหวัดจันทบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสตูล และจังหวัดอุบลราชธานี และยังขยายผลไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์แบบอารยเกษตรมาดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารายเกษตรตามแนวพระราชดำริ ที่บริเวณตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในที่ดิน นสล.2 แปลง ที่ดินราชพัสดุ 1 แปลง ที่สาธารณประโยชน์ “ห้วยงิ้ว” ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร และที่ดินของประชาชนที่ยินยอมให้ใช้ที่ดิน
รวมเนื้อที่โครงการฯ ประมาณ 62 ไร่ โดยความร่วมมือและบูรณาการงบประมาณ เครื่องจักรกล วัสดุอุปกรณ์ ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนตำบลหัวดอน องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน พร้อมด้วยจิตอาสาและภาคีเครือข่าย เมื่อมีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ตามที่ออกแบบวางผังไว้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 48,000 ลูกบาศก์เมตร ราษฎรได้รับประโยชน์ 234 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่าชุมชน ได้รับประโยชน์ รวมกว่า 3,600 ไร่
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ บริเวณตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ดำเนินการนำร่อง 1 ใน 6 จังหวัดของประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ประยุกต์และอารยเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาดำเนินการในที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ ขับเคลื่อนตามพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของจิตอาสา และภาคีเครือข่าย อันจะก่อให้เกิดพลังการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.