อุบลเมืองนักปราชญ์ ราชธานีหนึ่งเดียวในสยาม มีสมเด็จพระราชาคณะ 5 รูป

   เมื่อ : 21 ก.ย. 2567

            จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ ดินแดนแห่งนักปราชญ์” เนื่องมาจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในแต่ละด้าน ได้แก่ การเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลในท้องถิ่นในการสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคม จนสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้กับจังหวัด และคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้งพระภิกษุสงฆ์  ครู  อาจารย์ นักปกครอง นักการเมือง นักสังคมสงเคราะห์ นักสาธารณสุข นักการเกษตร นักกีฬา ศิลปิน นักร้อง นักดนตรี และภูมิปัญญาท้องถิ่นหลากหลายสาขา จนมีคำกล่าวขานถึงความโดดเด่นสองเมืองใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า “นักมวยเมืองโคราช นักปราชญ์เมืองอุบล” 

            ที่สำคัญด้านการศาสนาจังหวัดอุบลราชธานี มีวัดมากกว่าพันแห่ง มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณรจำนวนมาก ได้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน และมีพระสงฆ์ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์สถาปนาเป็นพระราชาคณะ ชั้นสมเด็จถึง 5 รูป ประกอบด้วย 

          1. สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม 2410 ที่บ้านแคน ตำบลดอนมดแดง (ปัจจุบันอำเภอดอนมดแดง) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

            การบรรพชาอุปสมบท ปี พ.ศ. 2429 อายุ 19 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านสว่าง อำเภอวารินชำราบ แล้วย้ายไปศึกษาอักษร สมัยที่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

            วันที่ 20 มีนาคม 2430 ได้อุปสมบทที่วัดศรีทอง และปี 2433 ได้ติตามเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ เข้าศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญโท

            เมื่อเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นครูสอน แผนกบาลี โรงเรียนนี้นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเรียกว่า ”โรงเรียนอุบลวิชาคม” ท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่ง และอุปถัมภ์โรงเรียนนี้มาตลอด และต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า ”โรงเรียนสมเด็จ” เพื่อเป็น อนุสรณ์ ปัจจุบันเป็น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน สำหรับเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร และกุลบุตรกุลธิดาทั่วไป

  • ตำแหน่งเจ้าอาวาส ดังนี้   

            พ.ศ.2446 เป็นเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2470 เป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2475 เป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2485 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพระนคร

  • สมณศักดิ์

            ปี พ.ศ. 2447 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศาสนดิลก พ.ศ. 2454 ได้รับพระราชทานพัดพระราชาคณะเสมอชั้นราชในนามเดิม พ.ศ. 2455 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นราชที่พระราชมุนี พ.ศ. 2464 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพเมธี 

            พ.ศ. 2468 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะเสมอชั้นธรรม ที่พระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ. 2472 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมปาโมกข์ พ.ศ. 2475 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ ที่พระพรมมุนี เจ้าคณะรองหนกลาง

            พ.ศ. 2482 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ พ.ศ. 2485 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสังฆนายก และนับเป็นสังฆนายกองค์แรกของคณะสงฆ์ไทย

  • การมรณภาพ

            ภายหลังท่านย้ายไปประจําที่วัดบรมนิวาส และมรณะภาพที่วัดบรมนิวาสนั่นเอง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2499 สิริอายุได้ 89 ปี

            2. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ มีนามเดิมว่า สนั่น สรรพสาร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ.2451 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ภูมิลำเนาอยู่บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาเป็นกำนันตำบลหนองบ่อชื่อนายคำพ่วย โยมมารดาชื่อนางแอ้ม ตอนที่ท่านคลอด เกิดเหตุลมกรรโชกแรง และมีฟ้าแลบฟ้าร้องดังสนั่น กำนันคำพ่วยจึงตั้งชื่อบุตรคนที่ 6 นี้ว่าสนั่น ต่อมานางแก้ว พี่สาวของโยมมารดาได้รับท่านไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมเพราะตนกับนายเคน สามีไม่มีบุตร ท่านจึงเรียกลุงกับป้าว่าพ่อแม่

            สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทะปัชโชโต) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 8 และ 10 (ธรรมยุต) สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ 

            สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ อาพาธด้วยโรคไตและโรคปอด และถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 เวลา 13.40 น. สิริอายุ 90 ปี 

            3. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิมว่า พิมพ์ แสนทวีสุข เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ที่บ้านสว่าง ตำบลสว่าง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายทองกับนางนวล แสนทวีสุข เมื่อโตขึ้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านม่วงและโรงเรียนอุบลวิทยาคมตามลำดับจนจบชั้นมูล ข (เทียบเท่า ม. 2)

            สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ธมฺมธโร) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์ เช่น ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สังฆมนตรี รองประธานสังฆสภา กรรมการมหาเถรสมาคม

            สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มรณภาพเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 เวลา 09:10 น. สิริรวมอายุ 77 ปี พรรษา 57 

            4. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เกิดวันที่ 29 ธันวาคม 2460 ที่บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็น จ.อำนาจเจริญ) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี 2472 ที่วัดบ้านบ่อชะเนง และได้ออกเดินธุดงค์ติดตาม พระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์สิงห์ ขนุ ตยาคโม ปี 2473 เดินธุดงค์กรรมฐานพร้อมกับคณะ โดยผ่าน จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และจำพรรษาที่วัดป่าช้าเหล่างา ปัจจุบันคือ วัดป่าวิเวกธรรม ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น และได้ญัตติเป็นสามเณรธรรมยุต ต่อมาได้เดินทางมาเรียนนักธรรมบาลี ที่วัดสัมพันธวงศาราม และอุปสมบทเมื่อปี 2480 ที่วัดสัมพันธวงศาราม ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ต่างๆ ภายในวัด จนต่อมาปี 2514 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม

            ส่วนลำดับสมณศักดิ์ ปี 2499 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอริยเมธี ปี 2507 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชกวี ปี 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพปัญญามุนี ปี 2519 เป็นพระราชา คณะชั้นธรรม ที่พระธรรมบัณฑิต ปี 2532 ได้รับการสถาปนาเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระอุดมญาณโมลี และปี 2544 ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

            สมเด็จพระมหา​วีรวงศ์ ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคระบบหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน​ พ.ศ. 2561 เวลา 17.00 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 100 ปี 316 วัน พรรษา 81 

            5. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงกโร) มีนามเดิมว่า ประสิทธิ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นปสฤทธ์) สุทธิพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2480 ที่บ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี     

            บรรพชาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2491 ณ วัดยางน้อย และย้ายเข้ามาอยู่ ณ วัดมณีวนาราม ศึกษาพระปริยัติ อบรมพระกรรมฐาน และสนองการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นสำนักการบริหารคณะสงฆ์ที่สำคัญของจังหวัด 

            ด้านการศึกษา พ.ศ. 2491 จบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนประชาบาล (พรหมพิทยา) บ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี พ.ศ. 2497 สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

            พ.ศ. 2497 สอบได้นักธรรมชั้นโท สำนักเรียนวัดยางน้อย พ.ศ. 2497 สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดมณีวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี พ.ศ. 2501 สอบประโยค ป.ธ.3 สำนักเรียนวัดจักรวรรดิ พ.ศ. 2503 จบชั้นบาลีอบรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

            ต่อมา พ.ศ. 2497 ย้ายจากวัดมณีวนาราม จ.อุบลราชธานี เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม โดยได้รับเมตตาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร ป.ธ.8) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และพระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ป.ธ.8) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีสุธรรมมุนี ให้พำนักในฐานะอาคันตุกะ ที่กุฏิหลังหอพระปริยัติธรรม คณะ 1 จากนั้นช่วงก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. 2497 มีโอกาสเข้าไปกราบสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระมหาพุฒ สุวฑฒโน ป.ธ.7 วัดสุทัศนเทพวราราม และได้รับความเมตตาให้พำนักอยู่ในห้องกุฏิด้านใน

            หลังจากอุปสมบท และสนองงานพระศาสนา จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ดังนี้ 

            พ.ศ. 2508-2510 เป็น เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ พ.ศ. 2510-2530 เป็น เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก พ.ศ. 2516 เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส พ.ศ. 2521 เป็น เจ้าคณะตรวจการภาค 3 พ.ศ. 2527 เป็นพระอุปัชฌาย์ประเภทวิสามัญ พ.ศ. 2544 เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม (โดยแต่งตั้ง) พ.ศ. 2544-2564 เป็น เจ้าอาวาสวัดยานนาวา พ.ศ. 2544 เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 พ.ศ. 2560-2562 เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ. 2562 เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานคณะกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) พ.ศ. 2564 เป็น เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ พ.ศ. 2564 เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม

            ช่วงต้นปี พ.ศ. 2519 ร่วมกันจัดตั้งองค์กรการประชุมสงฆ์ไทยขึ้น โดยได้รับอนุมัติจากทางการสหรัฐเมริกาให้ใช้ชื่อว่า “สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา” และในปี พ.ศ. 2545 ท่านได้รับเลือกจากพุทธบริษัทในสหรัฐอเมริกาให้เป็นประธานโครงการการสร้างวัดนวมินทรราชูทิศ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในดินแดนที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ นครบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นวัดไทยในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

            สำหรับลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2512 ได้รับแต่งตั้งจากพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ธีร์ ปุณณโก) ให้ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมที่ พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ให้ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมที่ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ พ.ศ. 2516 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระสุธีรัตนาภรณ์ พ.ศ. 2527 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชรัตนาภรณ์ พ.ศ. 2535 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่พระเทพประสิทธิมนต์ พ.ศ. 2543 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมวชิรญาณ พ.ศ. 2544 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรญาณ 

            ปี พ.ศ. 2562 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนสมศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์

          ………

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน