ไทยเตรียมตั้งศูนย์ Hotline แก้ปัญหาไฟป่าระหว่างไทยและกัมพูชา
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจัดตั้งคณะทำงานด้านการป้องกันการเผาป่าระหว่างประเทศไทย - กัมพูชา ว่าในช่วง 3 - 4 อาทิตย์ที่ผ่านมา จุดความร้อน (Hot Spot) ทั้งหลายเกิดขึ้นที่กัมพูชาค่อนข้างมาก ซึ่งก็มีการพูดคุยกับกัมพูชาอย่างต่อเนื่องและมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป
กระทรวงต่างประเทศ ได้รายงานถึงความพร้อมของรัฐบาลกัมพูชาในการส่งทีมงานมาพูดคุย เพื่อหาแนวทางในการจัดตั้งศูนย์ Hotline เพื่อป้องกันการเผาป่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทีมไทยแลนด์เพื่อประสานงานกับรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหา PM2.5 และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการมีอากาศที่สะอาดอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตามข้อเสนอของฝ่ายไทย
อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจุดความร้อน และการพัฒนาศักยภาพเครื่องมือและอุปกรณ์ การดับเพลิงและการจัดการด้านการเกษตร รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล hotspot ต่างๆ
จุดความร้อน หรือ hotspot สำคัญอย่างไร
GISTDA ให้คำอธิบายว่า จุดความร้อน ก็คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกติ ทั้งนี้ ดาวเทียมหลายดวงถูกพัฒนาระบบเซนเซอร์ให้มองเห็นค่าความร้อนบนผิวโลก สามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟาเรด หรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส บนพื้นผิวโลกได้ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลและแสดงให้เห็นในรูปแบบจุด ระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้หาจุดความร้อนนั้นสามารถมองหาภาพใหญ่ขนาด 1 ตารางกิโลเมตร และเจาะรายละเอียดระดับพื้นที่เพื่อตีวงความร้อนที่เห็นให้แคบลง เพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์และวางแผนควบคุมไฟป่าในภาพรวม
ไทยพบจุดความร้อนในประเทศ 1.4 พันจุด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 67 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 1,420 จุด จังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 193 จุด ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่กัมพูชา 2,489 จุด ตามด้วย พม่า 2,279 จุด ลาว 1,210 จุด และเวียดนาม 365 จุด
จุดความร้อนที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 490 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 375 จุด พื้นที่เกษตร 237 จุด พื้นที่เขต สปก. 186 จุด แหล่งชุมชนและอื่นๆ 115 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด โดยจังหวัดที่มีฝุ่นสูงเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ลำพูน 92.7 ไมโครกรัม รองลงมา คือเชียงใหม่ 86.9 ไมโครกรัม ตาก 86.4 ไมโครกรัม สุโขทัย 84.6 ไมโครกรัม แม่ฮ่องสอน 83.3 ไมโครกรัม ลำปาง 76.6 ไมโครกรัม และน่าน 75.7 ไมโครกรัม
ทั้งนี้ หลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโซนภาคเหนือของประเทศ ดังนั้น ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่กัมพูชา 2,489 จุด ตามด้วยเมียนมา 2,279 จุด ลาว 1,210 จุด และเวียดนาม 365 จุด
เชียงใหม่ติดอันดับ เมืองที่มีมลพิษมากสุด
ล่าสุด (27 ก.พ. 67) เชียงใหม่ติดอันดับ 11 ของเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากสุด โดยมีค่า AQI อยู่ที่ 151 อยู่ในระดับสีแดง หรือมีผลกระทบต่อทุกคน หลังเกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 โดยพบพื้นที่ที่มีความเสียหายจากไฟป่าประมาณ 200 ไร่ บนดอยผาดำ ซึ่งพนักงานดับไฟป่าในพื้นที่ได้เร่งปฏิบัติการดับไฟในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 220 นาย
ทั้งนี้ ช่วงเดือนมีนาคม พบว่าเป็นช่วงเดือนที่มีความร้อนเกิดขึ้นมากที่สุด ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าเดือนอื่น ทาง จ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินการเชิงรุกโดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสร้างอาชีพให้กับผู้มีอาชีพหาของป่า หรือมีความเสี่ยงต่อการบุกรุกพื้นที่ป่า ประกอบกับจัดเตรียมทีมลาดตระเวน จัดตั้งจุดสกัดในพื้นที่เสี่ยงและเตรียมความพร้อมทางด้านอากาศยาน ป้องกันและดับไฟป่า.