ครม.ไฟเขียว “โคแสนล้าน” นำร่อง อนุมัติสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
19 มี.ค. 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง และมอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) รับไปตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดและงบประมาณอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
เปิดสาระสำคัญโครงการ “โคแสนล้าน” แก้ปัญหาความยากจน
โครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง เป็นโครงการของ สทบ. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน โดยเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินที่กำหนด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือนๆ ละ 50,000 บาท
ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำการเลี้ยงโคจากกรมปศุสัตว์ และรัฐจัดหาตลาดเพื่อรองรับ ต่อยอดในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ต่อครัวเรือนอย่างน้อย 240,000 บาท ต่อครัวเรือน จากต้นทุน 50,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี (โค 2 ตัว เฉลี่ยราคาตัวละ 25,000 บาท สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อตัว)
ลงนาม MOU ส่งเสริมเลี้ยงปศุสัตว์
19 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ส่งเสริม ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเทคโนโลยีในการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ระหว่างกองทุนหมู่บ้านฯ - กรมปศุสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
• เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่เข้าร่วมโครงการของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และกรมปศุสัตว์
• เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงสัตว์คุณภาพสูง
• เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับการผลิตเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ
• เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจระดับฐานรากในระดับหมู่บ้านและชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
• เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ในครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
• ลดภาระค่าครองชีพให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
• เพื่อคัดเลือกผู้แทนเกษตรกรที่มีความรู้ และศักยภาพ เข้าร่วมโครงการของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติและกรมปศุสัตว์
นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ จะส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเข้าถึงแหล่งเงินเกี่ยวกับการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคและสัตว์อื่นที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์อีกด้วย
ตั้งเป้าอุตสาหกรรม “ฮาลาลไทย” จ้างงานเพิ่ม 1 แสนคน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมในครั้งนี้ เพื่อลดข้อจำกัด แก้ไขกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยวางเป้าหมายในระยะแรก คือถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ประกอบด้วยอาหารฮาลาล เช่นเนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน อาหารสำหรับมุสลิมรุ่นใหม่ เช่น Snack bar/แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง/ยาสมุนไพรและเครื่องสำอางฮาลาล/โกโก้ฮาลาล สินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง/บริการและท่องเที่ยวฮาลาล
ทั้งนี้ ในระยะยาวตั้งเป้าว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ในขณะเดียวกันแรงงานในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571.
Cr.กรมประชาสัมพันธ์