ผลักดันโครงการ ‘โคแสนล้าน’ ส่งเสริมอาชีพ แก้ปัญหาความยากจน

   เมื่อ : 26 ก.พ. 2567

การแก้ปัญหาความยากจนเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ประมง และปศุสัตว์ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่เป็นอาชีพเสริม แก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร ผ่านโครงการ ‘โคแสนล้าน’ ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่จะสนับสนุนเงินกู้ยืมให้เกษตรกรครอบครัวละ 50,000 บาท เพื่อใช้เลี้ยงโค 2 ตัว นำร่อง 500,000 ครัวเรือน 

            25 ก.พ. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การส่งเสริมอาชีพเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการผลักดันโครงการ ‘โคแสนล้าน’ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละจังหวัดช่วยกันพิจารณาว่า ในจังหวัดของตนเอง มีครอบครัวใดที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการเลี้ยงวัว อย่างน้อยจังหวัดละ 5,000 ครอบครัว ซึ่งจากการทำโครงการนำร่อง 4 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งนี้ ขอให้ทางจังหวัดช่วยอบรมในเรื่องผสมเทียมจะได้มีจำนวนสัตวบาลอาสามากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยควรมีตำบลละ 1 คน จะได้เพียงพอต่อการดูแลสมาชิกที่เลี้ยงวัว โดยกองทุนหมู่บ้านฯ มีสมาชิก 13 ล้านคน หากเริ่มต้นเลี้ยงวัว 2 ตัว ผ่านไป 4 ปี จะมีรายได้รวมทั้งหมดถึง 5 แสนล้านบาท

            ส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน 

            นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับครอบครัวที่ยากจนอยากให้มีการจัดอบรมการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้รู้การใช้จ่ายและการอดออม รวมถึงการหารายได้เพิ่ม จึงเสนอโครงการวัวเพื่อเป็นรายได้เสริม ส่วนเกษตรฯ ด้านอื่นๆ ก็ยินดีที่จะส่งเสริมอาชีพให้ พร้อมมั่นใจว่า หากเราไม่ทำในเรื่องของปศุสัตว์ ประชาชนจะไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ ตนจึงผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

            ส่งเสริมเกษตรกรไทยเลี้ยงโค ปูรากฐานทำให้ไทยเป็น​ ”ฮาลาล​ ฮับ”

            กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมโครงการเลี้ยงโคให้เกษตรกร​ เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่าเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ​อื่นๆ​ เช่น​ ไก่​ หรือ หมู​ ซึ่งต้นทุนการเลี้ยงวัวมีเพียงหญ้าเท่านั้น​ นอกจากนี้ยังได้ให้ความรู้กับเกษตรกรในการเลี้ยงโคควบคู่กับการปลูกหญ้า​ เพื่อลดค่าใช้จ่ายทดแทนการซื้ออาหารมาขุนวัว ทั้งนี้แม้ว่าราคาขายอาจต่ำกว่าวัวขุน​ แต่ในระยะยาวเกษตรกรจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงของราคาวัวขุนที่ผันแปร โดยวัว 1 ตัว สามารถขายได้ราคาตัวละ​ 25,000 บาท​ หากมี​ 50​ ตัวจะมีรายได้ได้ถึง​ 1,250,000 บาท​ วิธีการคือ การเลี้ยงวัวเพศเมียที่ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ​ แต่เป็นแม่พันธุ์ที่ดี​ และสามารถขยายพันธุ์​ทุกปี​ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่จะพัฒนาตนเอง เมื่อสถานภาพ​การเงินดี​ ก็จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น 

            นอกจากนี้ โครงการเลี้ยงโคยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นศูนย์กลางของการผลิตอาหารฮาลาล​ หรือ​ ฮาลาล​ ฮับ​ (Halal Hub) ตามสถิติแล้วความต้องการบริโภคอาหารประเภทเนื้อวัวมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามประชากรชาวมุสลิมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก​ หากเกษตรกรชาวไทยหันมาทำเกษตรกรรมปศุสัตว์เลี้ยงโคเนื้อมากขึ้น ความฝันที่จะเป็นครัวของโลกก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม.