นายกฯ ประชุมบอร์ดอีวี ไฟเขียวมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก

   เมื่อ : 02 พ.ย. 2566

          1 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุม นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้ 

          นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า รัฐบาลสนับสนุน EV ให้เกิดในประเทศ ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ ICE ของเราก็ต้องช่วยให้เปลี่ยนผ่านไปได้อย่างเหมาะสม หลาย ๆ อย่างเป็นเรื่องที่รัฐบาลเดิมได้สนับสนุนผลักดัน​ จนปัจจุบันเราเห็น EV Adoption สูง ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี  เราต้องสนับสนุนต่อ แต่ขอให้พิจารณาเรื่องแนวทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจาก EV Adoption ในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างเร็ว และไปได้ดี เราอาจจะไม่จำเป็นต้องแจกส่วนลดเยอะอย่างที่เคยทำ แต่จะพิจารณาให้เป็นรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมแทน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่เป็นภาระต่อการคลัง และอีกเรื่องหนึ่ง คืออยากให้ส่วนอุตสาหกรรม EV มีสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี องค์ความรู้ที่เป็นของคนไทย ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการนำภาคการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และสุดท้ายทั้งอุตสาหกรรมที่เรากำลังจะสร้างให้ไทยมีจุดแข็ง ต้องทำให้ครบวงจรตั้งแต่การพัฒนา การผลิต และการ Reuse Recycle โดยจะต้องไม่ละเลยว่าสุดท้ายแบตเตอรี่ทั้งหลายจะต้องมีการเปลี่ยน และต้องทำให้เกิดการดูแลให้ครบทั้ง Life cycle ตั้งแต่ Cradle-to-grave

           โดยบอร์ดอีวีได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน

           ทั้งนี้ บอร์ดอีวีได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย

          สำหรับมาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้ 

-กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน  ระหว่าง 50,000 - 100,000 บาท/คัน สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000 – 50,000 บาท/คัน

-กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 50,000 - 100,000 บาท/คัน 

-กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000 - 10,000 บาท/คัน

          ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสมและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

          มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรนำเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ. 2567 – 2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 2570 พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้า และผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อให้ผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าภายในงาน Thailand International Motor Expo ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 ยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนมกราคม 2567 

 

          “มาตรการ EV 3.5 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายในการสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และดึงนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย และทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050” 

          ทั้งนี้ บีโอไอเผยว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนฯ แล้ว รวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน 2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.6 เท่า และนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2560 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า.

Cr.ทำเนียบรัฐบาล