เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.19 : บันทึกลับ…เจ้าเมืองอุบล สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นกับสัมพันธมิตร

   เมื่อ : 11 มี.ค. 2567

          จังหวัดอุบลราชธานี กับสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่น ได้นำเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรมาสร้างสนามบิน และควบคุมไว้ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนมากกว่า 3 พันคน จากการสืบค้นและหลักฐานที่พบในจังหวัดอุบลราชธานี คือ สนามบินที่บ้านหนองใผ่ ต.ขามใหญ่ อ.เมือง (กม.10 ถนนชยางกูร)

          และคำบอกเล่าของชาวอุบลราชธานี เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ชาวอุบลราชธานี ให้การช่วยเหลือ เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยความเมตตา สงสาร แอบให้ข้าว อาหาร ยารักษาโรค เมื่อสงครามยุติ เหล่าเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้สำนึกถึงคุณงามความดี และน้ำใจของชาวอุบลราชธานี จึงได้สร้างอนุสาวรีย์แห่งความดี ไว้เป็นอนุสรณ์ ที่ทุ่งศรีเมือง..

            ในเวลาต่อมาอดีตเชลยศึกบางส่วนได้กลับมาประเทศไทย ช่วงสงครามเวียดนาม และเดินทางมาอุบลราชธานี เพื่อติดต่อขอพบชาวอุบลราชธานีที่เคยให้การช่วยเหลือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และทางราชการได้ร่วมสืบค้นหา พบว่า คุณยายไหล ศิริโสตร์ เป็นหนึ่งที่เชลยศึกจำได้ จึงได้มอบเงินและของขวัญที่ระลึก ตอบแทนคุณงามความดี และยกย่องชื่นชมให้เป็น (lady of Ubon) 

            ต่อมาในปี 2550 มีทายาทฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เดินทางมาจัดพิธีรำลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี และในปีต่อมาจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับชาวต่างประเทศ กำหนดให้วันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันรำลึกแห่งความดี และมีชาวต่างชาติมาร่วมงานทุกปี อย่างต่อเนื่อง

            จากเหตุการณ์และการสืบค้นเรื่องราวสงครามโลกครั้งที่ 2 กับจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันหลายด้าน ทั้งฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น และฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งถูกทหารญี่ปุ่นนำมาควบคุมและสร้างสนามบิน ในขณะส่วนหนึ่งจะถูกบังคับสร้างทางรถไฟที่กาญจนบุรี เมื่อสงครามยุติ เหตุการณ์เปลี่ยนไป 

            ในระหว่างรอการส่งทหารญี่ปุ่นกลับประเทศ การเยียวยาเชลยศึกที่ได้รับอิสรภาพ และรอการส่งกลับประเทศ จังหวัดอุบลราชธานีและประชาชนทุกคน ต้องให้ความสำคัญเพื่อสันติภาพ จึงขอนำบันทึกลับ...ของเจ้าเมืองอุบลราชธานี ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมสถานการณ์ ทั้งทหารญี่ปุ่นและฝ่ายสัมพันธมิตร ให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ และได้กลับบ้านเกิดด้วยความปลอดภัยทุกคน ซึ่งในบันทึกดังกล่าว มีความยาวมาก รวม 14 ข้อ ดังนี้

            เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามเอเซียบูรพา ข้าพเจ้ายังเป็นเจ้าเมือง สุโขทัย ได้ร่วมกับทหารไทย ญี่ปุ่นปฏิบัติการในหน้าที่ดังกรณีต่อไปนี้

            1. ระยะแรกทหารญี่ปุ่น 1 พัน ไปจังหวัดสุโขทัยและแยกไปพักอำเภอสวรรคโลกบ้าง รัฐบาลไทยโทรเลขสั้นๆ ให้ร่วมมือ เมื่อไปถึงก็ขอให้ก่อสร้างที่พักให้ 4 หลัง จุทหารหลังละ 500 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ทั้งขอให้ช่วยซื้อหาเครื่องบริโภคให้ด้วย ระดมเจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรช่วยก่อสร้างทั้งกลางวันกลางคืน 10 กว่าวันจึงเสร็จ

            2. นายร้อยตรีญี่ปุ่นพูดภาษาไทยชัด มาขอให้เกณฑ์จ้างรถยนต์บรรทุก 20 คัน ไปบรรทุกทหารและสัมภาระจากพิษณุโลกไป สุโขทัย ตาก คันละ 3 เที่ยวด่วน รุ่งเช้ากลับมาฟ้องยังที่พักข้าพเจ้าว่า รถยนต์หนีไปหลายคันให้จับตัวส่งเขาวันนี้ให้ได้ จะเอาไปทำโทษเอง ข้าพเจ้าบอกว่ายังไม่รู้คันไหนหนี ขอให้บอกเบอร์รถมาจะทำโทษให้ จะส่งให้ท่านไปทำเองไม่ชอบด้วยกฎหมายไทย เขาคาดคั้นจะให้ทำตามคำขอให้ได้ ข้าพเจ้าก็ยืนกราน เขามีกิริยาโกรธจัด พูดว่าถ้าไม่จับส่งเขา เขาจะตามไปยิงพวกรถที่หนีเอง ข้าพเจ้าให้สติว่า ท่านจะทำโดยพลการเช่นนี้จะไม่ราบรื่น เขาโกรธชักดาบจากผักที่เอวเขาลุกขึ้นยืน ข้าพเจ้าลุกคว้าเก้าอี้เตรียมทุ่มป้องกันตัวทันที เห็นข้าพเจ้าไม่โอนอ่อนรีบเดินตึงตั้งลงบันไดไปโดยเร็ว หากยั้งสติไม่ได้ก็ถึงฆ่ากันตาย ขณะนั้นนายสิทธิเดชบุตรชายข้าพเจ้าเวลานั้นเป็นนักเรียนธรรมศาสตร์ กลับไปบ้านโรงเรียนปิด แอบประตูเตรียมช่วยข้าพเจ้า เรื่องรถหนีไม่ต้องชำระกัน เหตุที่รถหนีเกิดจากใช้อำนาจมาก พูดจาไม่รู้เรื่องกัน

            3. นายอำเภอสวรรคโลกโทรศัพท์มาว่า ทหารญี่ปุ่นไปตบหน้าสามเณรในวัด พระ ชาวบ้าน โกรธจะพากันลงทัณฑ์ทหารญี่ปุ่นผู้นั้น ได้รีบไปทำความเข้าใจกัน ผู้บังคับบัญชา และฝ่ายพระสงฆ์ตกลงกันได้ โดยทหารญี่ปุ่นผู้นั้นยอมทำพิธีสมาโทษตามประเพณีไทย

            4. ในคืนหนึ่งนายอำเภอสวรรคโลกโทรศัพท์บอกว่าทหารญี่ปุ่นมี 2-3 คน ไปข่มเหงผู้หญิงบนโรงแรม ตำรวจยาม ครูช่วยห้าม ครูถูกตบตี แย่งปืนพกและปืนตำรวจยามไป แล้วอาละวาดยิงปืนหลายนัด ทั้งไปพาพรรคพวกหลายคน ไปบังคับนายร้อยเวรยังสถานีตำรวจ ให้จับครูตำรวจ ทั้งสองส่งให้เขาในคืนนั้นไม่ได้จะไม่กลับที่พัก ได้รีบไปพร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาชั้นสูงเขาไประงับเหตุยังหน่วยสวรรคโลกทันที เมื่อได้ชี้แจงข้อผิดถูกโดยยกเหตุผลในจุดสำคัญ ในข้อที่เราร่วมมือทำสงครามด้วยกัน มาทะเลาะกันเรื่องส่วนตัวเช่นนี้จะชนะได้อย่างไร ถ้ารู้ถึงผู้บังคับบัญชาชั้นสูงจะเกิดเสียหายทั้งสองฝ่าย ควรยุติ ปรองดองกันเสีย จะเกิดผลดี เขาจึงยุติ ตกลงทันที ครูตำรวจได้ปืนคืน

            ทั้งสองกรณีนี้ ถ้าทำโอ้เอ้ชักช้า พูดจากันไม่ถูกใจ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ยุ่งยากเกิดขึ้น

            5. ต่อมาเดือนมกราคม ๒๔๘๗ กระทรวงโทรเลข สั่งย้ายข้าพเจ้าไปจังหวัดอุบลราชธานีด่วน เป็นจังหวัดใหญ่มีพลเมืองมากที่สุด เดิมเป็นที่ตั้งมณฑลอุบลราชธานี มีอำเภอ เวลานั้น 13 อำเภอ 3 กิ่ง ติดต่อชายแดนอินโดจีนที่แม่น้ำโขง มีกองทหารไทย ทหารญี่ปุ่น มีทหารฝรั่งที่เป็นเชลยสัมพันธมิตรมาก ทหารญี่ปุ่นควบคุมกว่าพันคนระหว่างสงคราม เจ้าเมืองถูกย้ายไม่ทันหม้อข้าวดำ (ของดไม่กล่าวถึง) ไปรับตำแหน่งได้ไม่ถึง 3 วันได้รับคำสั่งกระทรวง ให้สร้างสนามบินให้ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นสนามบินใหญ่และสร้างอาคารให้อีก 4-5 หลัง ให้แล้วภายใน 30 วัน การก่อสร้างต้องไล่บ้านเรือน ไร่นาราษฎรหลายสิบราย ต้องจ่ายค่าแรงงานอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก ต้องวิ่งเต้นปลุกปลอบราษฎรชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้บังคับบัญชา ติดต่อขอร้องกระทรวงขอเงินใช้ค่าเสียหายราษฎรที่ต้องอพยพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายการสร้างสนามบินและอาคารด้วย ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 90 วัน

            6. ใกล้เวลาสันติภาพ ทหารไทยเกิดไปทำคู ค่าย ป้อมปืน กระชั้นชิดที่ญี่ปุ่นทำขึ้นไว้ก่อนแล้ว นายทหารญี่ปุ่นชั้นหัวหน้าซึ่งเป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบจังหวัดนี้ ตึงตังไปถามข้าพเจ้าขณะทำงานที่ศาลากลางจังหวัดว่า ทำค่ายคูทำไม แท้จริงฝ่ายทหารไทยมาตกลงและขอแรงช่วยอยู่ก่อนแล้ว สงบกิริยา ตอบบ่ายเบี่ยงไปทันทีว่าข้าหลวงเป็นฝ่ายบ้านเมืองช่วยเหลือทุกฝ่ายทั้งไทย ญี่ปุ่น ไม่เกี่ยวกับการรบขอให้ไปถามทหารไทยจะรู้ดี ตามความเข้าใจฝ่ายบ้านเมือง เข้าใจว่าอาจทำเตรียมไว้ช่วยร่วมมือกับฝ่ายท่านให้เข้มแข็งขึ้นก็ได้ หันหลังกลับไปด้วยท่าทีโกรธ

            7. ในระยะนี้เกิดเสรีไทย โดยผู้แทนราษฎรเก่าที่มีอิทธิพลหลายท่านมาดำเนินการไปตั้งกองลับๆ ในป่าดง ผู้บังคับบัญชามิได้สั่งให้ทราบประการใด เกิดต้องพิจารณากันหนัก ต้องตัดสินใจด้วยตนเอง พลาดก็รับโทษขบถ แต่เมื่อดูท่าทีพฤติการณ์ชัดแน่ไปในทางประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงตกลงใจร่วมและอุปการะ เผอิญเกิดอื้อฉาวเหตุผู้ฝึกหัดทำปืนกลลั่นขณะฝึกหัดถูกลูกแถว ครู ลูกข้าราชการจังหวัดที่ไปสมัครตาย และบาดเจ็บสาหัส ไม่สาหัสกว่า 10 คน ทำให้ทหารญี่ปุ่นรู้ข่าวเที่ยวค้นตามหา กองเสรีต้องหลบหลีกไม่เป็นอันนอนกิน ทหารญี่ปุ่นออกสังเกตการณ์สอดส่องความเคลื่อนไหว เจ้าเมือง ปลัดเมือง นายอำเภอ ผู้กำกับการตำรวจ ผู้บังคับการกรมทหาร เตรียมระวังเข้มแข็งตลอดเวลา

            8. เมื่อประกาศสันติภาพ ฝ่ายญี่ปุ่นยอมแพ้ได้ 2 วัน ต่างฝ่ายยังไม่ได้รับคำสั่งจากฝ่ายสูงประการใด หัวหน้าเชลยทหารสัมพันธมิตรแต่ละประเทศที่กลับเป็นอิสระ 11 นาย ญี่ปุ่นกลับเป็นเชลยแทนรวมทั้งนายทหารญี่ปุ่นมาด้วย 1 นาย มาหาข้าพเจ้าที่จวนขอให้ช่วยเหลือ เครื่องบริโภคบรรเทาความอดอยากชั่วคราว โดยพูดขอเอานามกองทัพอเมริกัน อังกฤษเป็นประกัน จะนิ่งเฉยก็จะเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนการเจรจาสงบศึก เกิดการเสียหายแก่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยประกาศสงครามร่วมกับประเทศญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ เป็นเบี้ยล่าง ต้องรับผิดชอบ ด้วยจำต้องช่วย เจ้าเมืองเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงอาหารกลางวันส่วนตัวไปหลาย เชิญหัวหน้าฝ่าย ทหาร ตำรวจ มาร่วมปรึกษา เรียกพ่อค้าแม่ค้ามากวดราคา อ้างตำแหน่งเจ้าเมือง ผู้บังคับการกรมจังหวัดทหารบก ผู้กำกับการตำรวจจังหวัด เป็นผู้ประกันเช่นกัน ตามรายการเครื่องบริโภคที่ต้องช่วยต่ำที่สุดประมาณวันละ 3-4 พันบาท โทรเลขบอกกระทรวงทันที เตือนแล้ว เตือนเล่าล่วงไปหลายวัน กระทรวงจึงส่งระเบียบการมา เป็นอันว่าทางจังหวัดได้จ่ายเกินระเบียบไปก่อนแล้วหลายพันบาท โต้ไปเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ให้จังหวัดรับผิดชอบที่จ่ายเกิน ทำให้ข้าพเจ้าต้องวิ่งวุ่นไปหาเจ้าหน้าที่การเงินกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการผสมด้วยตัวเองจึงเบิกชดใช้ได้

            9. เนื่องจากกระทรวงฯ ตกลงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรออกไปสั่งจ่ายเงินให้ สะดวกแก่การใช้จ่ายในกิจการเกี่ยวแก่ทหารเชลยสัมพันธมิตรในจังหวัดนั้นๆ แก่ร้านค้าได้แทนเงินสด ร้านค้ามาเบิกเงินต่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้ ข้าพเจ้าได้จ่ายไปเป็นจำนวนมากราย หลายรายปรากฏว่าซื้อเครื่องแต่งกายผู้หญิง แต่เจ้าหน้าที่การเงินกระทรวงขัดข้องไม่ให้เบิกจ่าย จำนวนพันกว่าบาท โดยระเบียบเคลือบคลุมไม่ชัดแจ้ง ต้องวิ่งวุ่นไปติดต่อเจ้าหน้าที่ผสมการเงิน กระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมกรุณาจ่ายให้เสร็จไปได้ มิต้องรับใช้อีกครั้งหนึ่ง

            10. ฝ่ายทหารสัมพันธมิตรผู้ชนะต้องการนำเชลยญี่ปุ่น ซึ่งควบคุมทางอินโดจีน มาร่วมกับเชลยญี่ปุ่นที่จังหวัดอุบลราชธานีหลายพันคน ทหารเจ้าหน้าที่มาขอให้ข้าพเจ้าจัดหาอุปกรณ์ก่อสร้างค่ายกักกันทหารญี่ปุ่น เสาไม้แก่น ไม้ฝา สานแผงทำฝา แฝกมุงหลังคา ประมาณราคาเกือบ 2 แสนให้ได้ภายใน 10 วัน เสาต้องตัดจากป่าไกล ไผ่ป่าไม่มีในจังหวัดนั้น มีแต่ไม้ไผ่สุกปลูกใช้บ้านละกอสองกอ หญ้าคาในจังหวัดนั้นไม่มี แฝกก็หมดฤดู แผงต้องจักตอกจากไม้ไผ่ ทั้งจักตอกและสานคนหนึ่งได้วันละ 1 แผ่น กว้างยาว 1 วาเท่านั้น จังหวัดไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 10 วัน แม้ให้เวลาตั้งเดือนก็ไม่มีทางแล้วได้ 

          ข้าพเจ้าได้แนะนำ ให้รื้อค่ายทหารญี่ปุ่นซึ่งอยู่กระจัดกระจายในที่ต่างๆ มาก่อสร้าง จะทุ่นอุปกรณ์ไม่น้อยกว่าครึ่ง ส่วนที่ยังขาดทางจังหวัดจะรีบเร่งจัดหามาเพิ่มเติมให้เร็วที่สุดและได้ผลเร็วกว่าหาอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด เขาตอบห้วนๆ ว่าไม่ทันการ ต่อมาราวๆ 4 วัน มีคณะกรรมการผสมทหารพลเรือนทั้ง ไทย ต่างประเทศ ขึ้นไปสอบสวน พิจารณาในเรื่องอุปกรณ์จังหวัดไม่ร่วมมือจัดหาทำค่ายกักกันเชลยญี่ปุ่นโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้า ได้ชี้แจงให้ทราบความจำเป็นและรายละเอียดที่จังหวัดได้อุปการะทหารเชลยสัมพันธมิตรแต่ต้นมาด้วยดีตลอดมา ได้ยืนยันท้าให้ไต่ถามทหารเชลยสัมพันธมิตร จะทราบได้โดยละเอียดดี เมื่อเขาพูดความจริงเป็นเรื่องร้ายแรง ถ้าการตอบโต้ไม่สมเหตุผลจะเสียหายทั้งส่วนตัวถึงถูกปลด ทั้งจะเกิดเสียหายแก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวมประเทศชาติด้วย 

            และเมื่อได้เลี้ยงอาหารกลางวันแล้ว ได้ถือโอกาสพาคณะกรรมการไปเที่ยวชมภูมิประเทศตามอำเภอ แท้จริงก็เพื่อให้พบเห็นเครื่องอุปกรณ์ที่จะไปจัดหามาทำการก่อสร้างค่ายกักกันทหารญี่ปุ่น เดินทางไปหลายกิโลเมตร จึงได้พบไผ่กอหนึ่งและพบแฝกที่จะทำมุงหลังคา กำลังแตกใบอ่อนใช้การไม่ได้ ชี้ให้เห็น นายพลจัตวาทหารพันธมิตรผู้เป็นประธานได้เห็นประจักษ์ รุ่งขึ้นได้เชิญข้าพเจ้า กรรมการจังหวัด ตำรวจ ทหาร ไปเลี้ยงอาหารที่ค่ายทหารบกไทยอุบล โดยเมื่อกลับไปชมภูมิประเทศก็ข้ามลำน้ำมูลไปพักแรมค่ายทหารไทย กล่าวขอบใจข้าพเจ้ายืดยาวและตกลงทำตามความเห็นข้าพเจ้า ต่อมา 10 วัน ข้าพเจ้าไปราชการกระทรวง พลจัตวาผู้นี้จะทราบทางใดไม่ทราบ ได้โทรศัพท์ไปกระทรวงมหาดไทยให้เชิญข้าพเจ้าไปพบที่พักบ้านมลิวัลย์ ในเวลาเพียงได้ต้อนรับเลี้ยงอาหารกลางวันร่วมกับนายทหารพันธมิตรจำนวนมาก ทั้งได้กล่าวขอบใจอีกครั้งหนึ่งด้วย

            การทำการใดๆ ถ้าใช้ความคิดรอบคอบ อาศัยเหตุผลย่อมผ่านอุปสรรคดังเรื่องนี้ ราษฎรไม่ต้องถูกเกณฑ์ให้เดือดร้อน รัฐบาลไม่ต้องเสียเงิน ไมตรีไม่เสีย

            อนึ่ง เวลานั้นจังหวัดอุบลราชธานี ต้องมีภาระรับรองเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งไทยและเทศ บางประเภทเบิกทางการไม่ได้ เงินทดรองก็มีจำนวนน้อย เครื่องอุปโภคบริโภคก็ราคาสูงลิ่ว ข้าราชการแย่ไปตามๆ กัน เพื่อแก้อุปสรรคได้จัดการตั้งสนามแข่งม้าขึ้นที่ทุ่งศรีเมือง อาศัยนามสโมสรข้าราชการจังหวัดให้ข้าราชการทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ดำเนินการ หักรายได้ให้รางวัลเป็นกำลังใจ แบ่งส่วนให้จังหวัดช่วยข้าราชการและให้สโมสร เป็นการบรรเทาความขาดแคลนไปได้บ้าง ในที่สุดสโมสรยังได้เงินเป็นทุนในการดำเนินการย้ายก่อสร้างสถานที่สโมสรใหม่ เพื่อความเจริญแก่จังหวัดหลายหมื่นบาท

            11. ระหว่างสันติภาพ เจ้าหน้าที่ทหารญี่ปุ่นนำเงินมามอบข้าพเจ้าขอให้ช่วยซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างอาคาร เพื่อทำค่ายกักกันทหารเชลยที่ส่งเพิ่มเติมมาใหม่ 3 หมื่นบาท ไม่มีหลักฐานอะไร ต่อมาอีก ๓ วัน ก็ประกาศสันติภาพ ข้าพเจ้านำเงินไปคืน ครั้งแรกให้รอก่อน ครั้งที่สองว่าเจ้าหน้าที่การเงินไม่อยู่ เมื่อไปครั้งที่สามจึงรับเงินใส่ลิ้นชักโต๊ะทำงานแล้วพูดบอกว่า เงินไทยไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ทั้งตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

            ต้องขอชมทหารญี่ปุ่นที่ถือวินัยดี เมื่อสันติภาพตกเป็นเชลย ทหารสัมพันธมิตรควบคุมเพียงค่ายละคนสองคน ไม่มีหนีหาย ทำงานตามคำสั่ง ทำอะไรก็ทำได้ทุกอย่างด้วยความเต็มใจ 

12. เนื่องจากจังหวัดประสานงานเป็นที่พอใจฝ่ายเขา หัวหน้าทหารสัมพันธมิตรที่ประจำอยู่ที่จังหวัดนั้น ได้นำรถยนต์มาให้ข้าพเจ้า ณ บ้านพัก 1 คัน กับน้ำมันเชื้อเพลิงและถังเปล่าเป็นจำนวนมาก แต่ข้าพเจ้ามอบเป็นสมบัติจังหวัด ถังเปล่าแจกจ่ายให้สถานที่ราชการต่างๆ ใช้ใส่น้ำใช้ทั่วๆ ไป

            ตอนข้าพเจ้าลาออกเพื่อพักผ่อน เนื่องจากตรากตรำทำงานทั้งปกติและระหว่างสงคราม ทั้งอายุมากขึ้น เพื่อให้ชีวิตยืดยาวต่อไป ขณะครอบครัวข้าพเจ้าเตรียมของกลับภูมิลำเนา หัวหน้าทหารสัมพันธมิตรผู้นั้น ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้าและเชิญข้าพเจ้าและครอบครัว ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร พลเรือนทุกฝ่ายไปเลี้ยงส่ง ณ ที่พัก เขาให้ของขวัญบุตรข้าพเจ้ามีค่าประมาณ ๔-๕ พันบาท วันเดินทางก็พานายทหารในหน่วยเขาไปส่งรถไฟด้วย รู้สึกเป็นเกียรติและขอบใจเขามาก

            13. ระหว่างสงครามนั้นหากคิดร่ำรวยมีทางที่จะได้มากมายเพราะติดชายแดนอินโดจีน เช่น บุหรี่โกแต๊บซ์ ซองละ ๑ บาท สุรา ขวดละ ๗-๘ บาท พอข้ามฝั่งไทยบุหรี่ซองละ ๓-๔ บาท สุราขวดละ ๑๕-๒๐ บาท เพียงแต่ครอบครัวดำเนินการก็จะได้เงินเป็นแสน

            แต่เมื่อนึกถึงตำแหน่งหน้าที่และเกียรติชื่อเสียงประกอบ ถึงผลได้และผลเสียของประเทศชาติ ทั้งจะเป็นตัวอย่างไม่ดี จึงไม่อาจจะกระทำได้

            14. ในการปฏิบัติทั้งที่จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับความร่วมมือ พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ ครู นักเรียน ทุกหน่วย ตลอดพ่อค้าประชาชน เข้มแข็งกลมเกลียว ได้ผลเป็นที่น่ายินดี ข้าพเจ้าระลึกถึงพระคุณอย่างสูงทุกท่านมิได้ลืมเลือน…

            จากบันทึกและความสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าว จะส่งผลต่อการศึกษาเรียนรู้ของชาวอุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องต่อไป

และขอบคุณพิพิธภัณฑ์สงคราม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่อนุเคราะห์ภาพถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ โดยมีนายชัยวัฒน์ อังคีรส ประสานงาน และส่วนหนึ่งจากทายาทหลวงนรัตถรักษา ที่มอบข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงนรัตถรักษาเพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป.

        …….

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

          10 มีนาคม 2567