แก่งสะพือ : ความทรงจำร่วม และการรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นถิ่น

   เมื่อ : 24 ต.ค. 2567

                          ๐ ดร.สมพงษ์ เจริญศรี* 

                             Ph.D. Tai Studies 

ภูมิหลังแก่งสะพือ 

            สะพือมาจากคำว่า “ซำพือ” เป็นภาษาส่วยหรือกูย แปลว่า งูใหญ่ มีนัยความหมายถึงพญานาค แก่งสะพือ เรียกตามขนาดหินน้อยใหญ่สลับกันเป็นสันเขื่อนตามธรรมชาติขวางกั้นลำน้ำมูล ลักษณะหินเกิดจากกระแสน้ำพัดผ่านกัดกร่อนเป็นเวลานาน ทำให้เกิดรูปร่างรูปทรงไร้เหลี่ยมคมสวยประหลาด เมื่อสายน้ำใสสาดซัดหิน อวดฟองขาวฟ่องละอองเย็นกายสบายตา ชวนนึกถึงบทเพลงของนักร้องดังอมตะในอดีต 

            “เที่ยวชมแก่งสะพือ งามสมชื่อเลื่องลือทั่วไป มองสายน้ำหลากไหล พัดโคนแก่งหินน้อยใหญ่ กระเซ็นเป็นฝอยงดงาม แว่วเพลงขลุ่ยชาวไพร เหมือนโน้มให้จิตใจสุขตาม เพลินธรรมชาติงาม เสียงลมแผ่วหวิวทุกยาม เสียงน้ำซัดสาดแผ่นหิน ใจเราสองเกลียวกลม เคียงคู่ไปเที่ยวชม แสนเพลินอารมณ์ชมน้ำหลั่งริน เสียงน้ำกระทบแก่งหิน เสียงดังได้ยิน เหมือนใครครวญพร่ำรำพัน … ” (ทูล ทองใจ. เว็บไซต์)   

            บริเวณแก่งสะพือ ตามสภาพภูมิศาสตร์ของลำน้ำมูลมีความกว้าง 1 กิโลเมตร ฤดูแล้งสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งได้ โดยลัดเลาะตามโขดหินและเดินลุยน้ำเป็นบางแห่ง พื้นที่แก่งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217 

            แก่งสะพือ นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ขึ้นชื่อมานานพร้อมๆ กับประวัติการสร้างบ้านแปลงเมืองอำเภอพิบูลมังสาหารแล้ว คนพื้นถิ่นยังมีความทรงจำร่วมต่อความหมายของแม่น้ำมูล คือ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งทำมาหากิน (จิตรกร โพธิ์งาม. 2549) หมายถึง พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวลุ่มน้ำมูล ซึ่งอธิบายผ่านคติความเชื่อทางศาสนา เรื่องเล่า ตำนานบรรพบุรุษ ธรรมชาติ ภูมิปัญญา และระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ บทบาทของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มีส่วนสำคัญในการสื่อความหมายและกำหนดเขตแดนของตัวเองขึ้นมา เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นคนพวกเดียวกันของคนลุ่มน้ำมูล ที่สำคัญได้แก่ วาทกรรมว่าด้วยเจ้าแม่ สะพือ หรือพระพือ เจ้าพ่อพละงุม บุญสงกรานต์แก่งสะพือ และวัดดอนธาตุ เมื่อผนวกกับการเสด็จเยือนแก่งสะพือของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยพระราชินี เมื่อปี พ.ศ. 2498 ดังปรากฏหินพระปรมาภิไธยเป็นอนุสรณ์ล้ำค่าของชาวเมือง ก็ยิ่งตอกย้ำความทรงจำในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ให้คนพื้นถิ่นเกิดความรักความผูกพัน หวงแหนต่อพื้นที่แห่งนี้ทวีคูณ 

            แก่งสะพือในปัจจุบันถูกกดทับใต้ผืนน้ำเหนือเขื่อนปากมูลมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 น้อยคนจะได้เห็นเหมือนเมื่อก่อน ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องเขื่อนปากมูลนานนับสามทศวรรษ ส่งผลต่อการปิดเปิดเขื่อนและส่งผลโดยตรงต่อแก่งสะพือ ล่าสุดแก่งสะพือเพิ่งฟื้นคืนชีพจากการเปิดเขื่อนเพื่อให้มวลน้ำเหนือเขื่อนลดลง แก่งหินหลากหลายปรากฏเป็นสันเขื่อนธรรมชาติดังเดิม เชิญชวนนักท่องเที่ยวกลับมาเยี่ยมชมความงาม และร่วมสนุกสนานกับเทศกาลประจำถิ่น มหาสงกรานต์ ณ แก่งสะพือ

ความทรงจำร่วมของชุมชนต่อแก่งสะพือ

            แก่งสะพือเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดลำน้ำมูล ยากจะระบุชัดว่าตรงกับช่วงเวลาใด แต่อย่างน้อยยังมีหลักฐานทางโบราณคดีย้อนลึกลงไปกว่า 1,000 ปี โดยอิงประวัติการสร้างเมืองพิมูลมังษาหาร เดิมชื่อบ้านกว้างลำชะโด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านกว้างลำชะโดเป็นเมืองพิมูลมังษาหารเมื่อปี พ.ศ. 2406 ต่อมาปี พ.ศ. 2443 ลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2482 เปลี่ยนชื่ออำเภอพิมูลมังษาหาร เป็นอำเภอพิบูลมังสาหาร ปัจจุบันเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่าง อุบลฯ-ด่านชายแดนช่องเม็ก ประตูการค้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน พิบูลมังสาหารวันนี้ยังคงสวยงาม คึกคักมีชีวิตชีวา ความทรงจำร่วมของผู้คนต่อแก่งสะพือในที่นี้สะท้อนจากช่วงเวลาก่อนและหลังสร้างเขื่อนปากมูล ยังผลให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคม สะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนพื้นถิ่นหลายมิติ 

            ช่วงแรก ก่อนสร้างเขื่อนปากมูล ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2537 สภาพแม่น้ำมูลก่อนปี พ.ศ. 2533 ย้อนอดีตลงไป พอจะเห็นความสัมพันธ์แบบสมดุลในวิถีชุมชนลุ่มน้ำแห่งนี้   

            ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ (2543) กล่าวถึงแม่มูลเป็นลุ่มน้ำที่มีเขื่อนมากที่สุด มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 117,000 ตารางกิโลเมตร กินอาณาบริเวณตั้งแต่ด้านใต้ของทิวเขาภูพาน ด้านตะวันตกของทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิวเขาดงพญาเย็น ด้านเหนือของทิวเขาสันกำแพงและพนมดงรักไปจนจรดแม่น้ำโขง แม่น้ำมูลเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของคนอีสานที่หล่อเลี้ยงคนในลุ่มน้ำนี้มาแต่บรรพบุรุษ คนท้องถิ่นเรียก “แม่มูล” หมายถึง ทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ สายน้ำไหลโค้งตวัดไปมาทำให้เกิดระบบนิเวศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายตลอดสองฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศแบบป่าบุ่งป่าทาม เป็นแหล่งอาศัยวางไข่และอนุบาลพันธุ์ปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขง บริเวณปากมูลตั้งแต่พิบูลมังสาหารลงไปถึงปากมูล สภาพทางธรณีวิทยทำให้เกิดระบบนิเวศแบบแก่งหินกลางลำน้ำ เป็นระบบสลับซับซ้อนมากกว่า 50 แก่ง เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลาแถบปากมูล ก่อนสร้างเขื่อนปากมูลมีพันธุ์ปลาท้องถิ่นถึง 258 ชนิด เป็นปลาที่อาศัยเฉพาะแก่งและย้ายถิ่น 160 ชนิด แม่น้ำมูลได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของประเทศ แต่น่าเสียดายระบบนิเวศนี้กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักจากการสร้างเขื่อนทั้งบนลำน้ำมูลและแม่น้ำสาขา ลุ่มน้ำมูลมีเขื่อนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จ 13 เขื่อน อีก 14 เขื่อนอยู่ระหว่างก่อสร้างและกำลังจะแล้วเสร็จ นักสร้างเขื่อนทำให้สังคมไทยเชื่อตลอดว่าเพื่อเป็นการพัฒนาที่จะนำมาซึ่งความสะดวกสบายและความอยู่ดีกินดี แต่จริงๆ แล้วมีผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง 

            กรณีเขื่อนปากมูลที่กำลังขัดแย้งอยู่ มีเบื้องหลังจากการผลักดันของธนาคารโลก ความขัดแย้งเรื่องเขื่อนในลุ่มน้ำมูลเกิดระหว่างคนท้องถิ่นที่ต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและทรัพยากรกับบรรดานักสร้างเขื่อนที่รับเอาลัทธิการพัฒนาแบบทุนนิยม ประเด็นผลกระทบทางสังคม เขื่อนที่สร้างขึ้นเป็นสาเหตุของการทำลายชุมชนพื้นถิ่นอย่างถอนรากถอนโคน ถึงปัจจุบันประมาณคนในลุ่มน้ำมูลต้องอพยพเพราะเขื่อนไม่ต่ำกว่า 20,000 ครอบครัว ยังไม่นับชาวบ้านที่อพยพและสูญเสียที่ดินจากการสร้างระบบคลองส่งน้ำ อีกยังมีชาวบ้านที่กำลังจะอพยพนับแสนคน เฉพาะโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โครงการเดียวต้องอพยพชาวบ้านเป็นจำนวนถึง 149,921 คน ปัจจุบันคนเหล่านี้เผชิญกับชะตากรรมอันเลวร้าย แตกกระสานซ่านเซ็นกลายเป็นคนจนฉับพลันและถาวร บางกรณีถูกผลักให้อยู่ชายขอบสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม เขื่อนเป็นตัวการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินและแม่น้ำมูลอย่างรวดเร็ว ทำให้แม่น้ำที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของประเทศคงเหลือเพียงตำนาน ที่สำคัญเขื่อนได้ปิดกั้นการเดินทางของปลาระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล ซึ่งนักชีววิทยายืนยันว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยพันธุ์ปลาถึง 1,238 ชนิด เป็นรองแค่แม่น้ำอะเมซอน การเดินทางของปลาระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลทำให้แม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขามีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งโปรตีนตามธรรมชาติของคนอีสาน ปัญหานี้เกิดขึ้นชัดจากการสร้างเขื่อนปากมูลที่ปิดตายระบบลุ่มน้ำมูนทั้งระบบ แม้จะสร้างบันไดปลาโจนเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ไม่สามารถทำให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลได้ การศึกษาของกรมประมงระบุว่าปลาสามารถผ่านบันไดปลาโจนได้ 63 ชนิด หรือคิดเป็น 21.4% ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลที่เคยมีบางวันปลาเดินทางขึ้นเพียง 2 ถึง 3 ตัว และยังเป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่ใช่ปลาทางเศรษฐกิจ 

            การปิดตายลุ่มน้ำมูลด้วยเขื่อนปากมูลจึงไม่ได้มีเพียงชาวประมงกว่า 6,000 ครอบครัวที่อยู่รอบอ่างเท่านั้น แต่รวมถึงคนลุ่มน้ำมูลและลำน้ำสาขาอื่นที่มีอาชีพประมงและจับปลาเป็นอาหารในครอบครัวด้วย หากพิจารณาในแง่ที่ว่าเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำมูลไม่ได้มาจากความต้องการของคนท้องถิ่น และผลประโยชน์ที่ได้นั้นน้อยมาก ดังเช่นเขื่อนปากมูลที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 40 เมกะวัตต์ บางเดือนผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้เลย เขื่อนที่สร้างเสร็จและไร้ประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยมากก็ควรยกเลิกการใช้ โดยเปิดประตูระบายน้ำเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำ พันธุ์ปลา และคืนที่ดินที่สมบูรณ์ให้กับชุมชน บทเรียนของการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลที่มีนานกว่า 4 ทศวรรษ สรุปได้ว่า พอแล้วสำหรับการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำมูล การคืนอิสรภาพให้แม่น้ำมูลจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขื่อนกับคนอีสาน

            ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ สะท้อนภาพรวมของผลกระทบในเชิงลบจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำมูล มีทัศนะตรงข้ามกับวาทกรรมกระแสหลัก โดยพาดพิงถึงปัญหาจากเขื่อนปากมูลด้วย หากมองมุมกลับ แสดงว่า ก่อนสร้างเขื่อน ลุ่มน้ำมูลยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์ สอดรับกับงานวิจัยของธาดา สุทธิธรรม (2547) แม่น้ำมูลถูกกล่าวถึงค่อนข้างละเอียดใน พ.ศ. 2425-2427 จากการสำรวจของเอเจียน แอมอนิเย นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ก่อนนั้นหลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานบ่งชี้ถึงอารยธรรมเก่าแก่ตลอดลำน้ำมูลตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อน 2,500 ปี งานวิจัยนี้ศึกษาถึงการเดินทางในลำแม่มูลตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-24 สะท้อนความรุ่มรวยของธรรมชาติมาแต่อดีต ก่อนจะถูกทำลายโดยน้ำมือของมนุษย์ยุคปัจจุบัน

            เฉพาะแก่งสะพือ แม้อดีตแรกเริ่มก่อตั้งชุมชนเมืองพิบูลมังสาหารจะไม่ได้กล่าวถึงบ่อยเหมือนยุคปัจจุบัน แต่ความทรงจำก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า เมื่อ 160 ปีที่ผ่านมา ลำน้ำมูลยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มากด้วยเกาะแก่งต่างๆ มากกว่า 50 แก่ง รวมทั้งแก่งสะพือ 

            ช่วงที่สอง หลังสร้างเขื่อนปากมูล หมายถึงช่วงเวลาที่ลำน้ำมูลถูกปิดกั้นอย่างถาวรเต็มรูปแบบ หลังปี พ.ศ. 2537 สัตว์น้ำไม่สามารถเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติได้ ผืนดินรายรอบจมมิดใต้ผืนน้ำเป็นวงกว้าง สะท้อนสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ทั้งพืชและสัตว์รวมทั้งผู้คนถูกเปลี่ยนแปลงวงจรโดยสิ้นเชิง 

            กรณีแก่งสะพือ ในสถานการณ์ปกติก่อนหรือหลังสร้างเขื่อน แก่งหินจะโผล่พ้นน้ำอวดความงามในช่วงหน้าแล้ง สอดรับกับเทศกาลสงกรานต์ของชุมชนเป็นประจำทุกปี ครั้นสร้างเขื่อนขวางทางน้ำ แก่งหินเหล่านั้นกลับจมอยู่ใต้ผืนน้ำอย่างถาวร เว้นแต่เขื่อนจะถูกเปิดประตูระบายน้ำตามข้อตกลงระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ถึงข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาแก่งสะพือที่หายไปจากวิถีชุมชน แต่กระนั้นปัญหาก็ยังไม่จบ คราวใดที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนใกล้เคียงหรือเท่ากัน ยังผลให้แก่งสะพือเต็มไปด้วยผักตบชวา น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง แม้ล่าสุดปี พ.ศ. 2566 และ 2567 ภาครัฐจะเปิดเขื่อนให้น้ำลด สามารถมองเห็นแก่งหินโผล่พ้นน้ำดังเดิม เพื่อสนองชุมชนในการจัดงานมหาสงกรานต์ที่ผ่านมา แต่ยืนยันไม่ได้ว่าจะเปิดเขื่อนเหมือนหนนี้ตลอดไปหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าและผลิตน้ำประปาสำหรับชุมชน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สะท้อนว่าภาครัฐและภาคประชาชนสามารถปรับตัวเข้าหากันได้บ้าง เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ไม่ทิ้งประโยชน์ที่จะได้รับจากเขื่อน ด้วยทุนสร้างมหาศาล จาก 3,880 ล้านบาท เป็น 6,600 ล้านบาท ยังไม่รวมต้นทุนผลกระทบทางสังคมและผลประโยชน์ต่ำกว่าที่วางไว้ ด้านการผลิตไฟฟ้าก็ผลิตได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ขณะที่กำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศมีมากเกินไป

            จิตรกร โพธิ์งาม (2549) สะท้อนข้อดีข้อเสียก่อนและหลังสร้างเขื่อนปากมูล โดยวิเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกเป็นสองกลุ่มที่แตกต่างทางความคิด กลุ่มแรกคืองานวิจัยกระแสหลัก หรือวาทกรรมกระแสหลัก (Dominant Discourse) ส่วนมากเป็นงานที่ผลิตโดยหน่วยงานของรัฐ สถาบันทางวิชาการ และนักวิจัยบางกลุ่มที่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐให้ทำวิจัยเพื่อศึกษาสภาพปัญหาผลกระทบให้รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจเชิงนโยบาย แม้งานวิจัยกลุ่มนี้จะนำเสนอหลากหลาย แต่จุดยืนร่วมคือยอมรับว่าโครงการสร้างเขื่อนเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของการพัฒนาที่จะนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย ประเด็นปัญหาผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจและแก้ไขได้ อีกกลุ่มคืองานวิจัยแนวต่อต้านกระแสหลัก หรือวาทกรรมต่อต้าน (Counter Discourse) งานวิจัยแนวนี้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและแนวคิดในการนำเสนอ แต่จุดยืนร่วมคือชูประเด็นท้องถิ่นนิยม (Localism) และแนวคิดสิทธิมนุษยชน (Community Right) เป็นเครื่องมือตอบโต้วาทกรรมกระแสหลัก ให้ความสำคัญต่อวิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น ปฏิเสธแนวทางการพัฒนาของรัฐซึ่งเน้นเทคโนโลยีที่มุ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนเข้าสู่การพัฒนาที่ไม่แน่นอน และสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายของระบบธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน   

            กล่าวอีกนัย สถานการณ์หลังสร้างเขื่อนปากมูล ยังผลกระทบต่อแก่งสะพือทั้งด้านกายภาพ และเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมของชุมชน โดยชี้ให้เห็นสองลักษณะคือ กรณีปิดตายเขื่อนปากมูล ส่งผลให้แก่งสะพือจมมิดอยู่ใต้ผืนน้ำ หากช่วงใดระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนอยู่ในระดับเดียวกัน ส่งผลให้น้ำเน่าเสียเพราะกระแสน้ำนิ่ง ไม่หมุนเวียนตามธรรมชาติ กรณีแก่งสะพือจะปรากฏหินน้อยใหญ่ดังเดิมก็ต่อเมื่อภาครัฐเปิดเขื่อนให้ระดับน้ำลดลงตามข้อตกลงที่มีระหว่างกันกับภาคประชาชน   

            ความทรงจำร่วมของชุมชนที่มีต่อแก่งสะพือนอกจากความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว พอจะสรุปได้สองมิติขัดแย้งกันคือ ชุมชนพื้นถิ่นมีวิถีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติก่อนสร้างเขื่อนปากมูล แก่งสะพือเป็นพื้นที่ทั้งสาม หมายถึงพื้นที่ทางกายภาพ (Firstspace-Physical Space) ที่มีแก่งหินสวยงามตามธรรมชาติที่น่าทึ่ง พื้นที่ทางความคิด (Secondspace-Mentral Space) ว่าคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพยำเกรง และพื้นที่ทางสังคม (Thirdspace-Social Space) อันเป็นศูนย์รวมของผู้คนคราวจัดงานเทศกาลสำคัญอย่างมหาสงกรานต์ แก่งสะพือ ซึ่งถูกตีค่าเป็นภาพแทนของชุมชน ส่วนอีกมิติหลังสร้างเขื่อนปากมูล พื้นที่แก่งสะพือถูกกดทับด้วยผืนน้ำมายาวนาน พื้นที่แห่งนี้มีพลังอำนาจหลงเหลือน้อย เมื่อวันหนึ่งเขื่อนถูกเปิด ระดับน้ำเหนือเขื่อนลดลง ความทรงจำจึงถูกรื้อฟื้น แม้จะคาดเดาได้ยากว่าอนาคตจะยั่งยืนหรือไม่ แต่ชุมชนก็ได้แสดงออกถึงความทรงจำร่วม เมื่อแก่งหินโผล่พ้นน้ำ คนสูงวัยต่างหลั่งไหลไปเยี่ยมชม หวนรำลึกถึงอดีตเมื่อครั้งที่ตัวเองยังหนุ่มสาว เคยคุ้นกับเกาะแก่งแห่งนี้เสมือนลมหายใจเข้าออก ต่างคนต่างก็ออกปากว่า ได้รื้อฟื้นความทรงจำแล้ววันนี้ ตื่นเต้น ตื้นตัน น้ำตารื้น มีความสุขที่ได้หวนสู่วันวาน

ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐที่ส่งผลต่อการธำรงความทรงจำร่วมในแก่งสะพือ

            ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐที่ส่งผลต่อการธำรงความทรงจำร่วมในแก่งสะพือ ในที่นี้จะกล่าวถึงสองระดับ ระดับแรก ภาคปฏิบัติในพื้นที่แก่งสะพือ หมายถึงแก่งสะพือเป็นที่รับรู้มาแต่อดีตว่าสถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน ชาวพิบูลมังสาหาร โดยกำกับของจังหวัดอุบลราชธานี ในสถานะเป็นเจ้าบ้าน จำต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ให้ได้มาตรฐานสมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ลือชื่อ เรวัต สิงห์เรือง และคนอื่นๆ (2549) ทำการวิจัยในชื่อ “โครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแก่งสะพือแบบมีส่วนร่วม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ได้บทสรุปว่า สภาพและปัญหาการท่องเที่ยวแก่งสะพือขาดการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการร้านค้า ชุมชนในแก่งสะพือขาดจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เยาวชนทำลายสิ่งของสาธารณประโยชน์ ผลการวิจัยทำให้ได้รูปแบบในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาครัฐและภาคประชาชนเจ้าของพื้นที่นำไปปฏิบัติ อันเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ระดับที่สอง ภาครัฐทำหน้าที่กำกับการปิดเปิดเขื่อนปากมูล หมายถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นที่ทราบกันแต่แรกกรณีความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน กลายเป็นมหากาพย์ความขัดแย้ง จนป่านนี้สถานการณ์ยังไม่จบสิ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงร่วมกันในช่วงสองปีที่ผ่านมา หมายถึงปี พ.ศ. 2556 เขื่อนปากมูลยอมรับข้อตกลงให้เปิดประตูระบายน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นเวลา 9 วัน ทำให้น้ำลด มองเห็นเกาะแก่งครั้งแรกในรอบ 30 ปีหลังสร้างเขื่อน 

            ล่าสุดปี พ.ศ. 2567 ภาครัฐขยายเวลาเปิดเขื่อนปากมูลเต็มเดือนเมษายน จึงเกิดงานอัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่สวนสาธารณะแก่งสะพือ โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผศ.จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร หัวหน้าส่วนราชการ ภาคการท่องเที่ยว ภาคเอกชน ทหาร ตำรวจ ร่วมในงาน ทั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมายาวนาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารเป็นพื้นที่จัดงาน นับเป็นนิมิตหมายอันดีว่าแก่งสะพือจะไม่จมอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาอีกต่อไป แต่จะมีช่วงเวลาโผล่พ้นมาหายใจสืบทอดวัฒนธรรมพื้นถิ่น ได้หวนอดีตรื้อฟื้นความทรงจำของคนในชุมชนให้กลับมาดังเดิม ทั้งนี้ด้วยอาศัยการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างแข็งขันมากกว่าแต่ก่อนนั่นเอง

การรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นถิ่น ณ แก่งสะพือ 

            ดังที่กล่าวตอนต้นว่า แก่งสะพือหลับไหลไปนานกว่า 30 ปี บัดนี้ถูกปลุกให้ตื่นด้วยสิ่งเร้าสองประการ คือ ประการแรก สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันสวยงามหมายถึงแก่งสะพือ ประการที่สอง การผนวกรวมเทศกาลสงกรานต์ไว้เป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีร้านรวงต่างๆ ทั้งของพ่อค้าแม่ค้าอาชีพ และพ่อค้าแม่ขายเฉพาะกิจ ประกอบด้วยของกินของใช้ ของที่ระลึก เสื้อผ้า และอื่นๆ อีกทั้งออกบูธสาระ ความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญของเมืองพิบูลมังสาหาร 

            ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร กล่าวถึงงานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 ในชื่องาน “อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival!” ว่ามีกิจกรรมวิ่ง KANG SAPHUE RUN มันส์ทะลุแก่ง 2 การประกวดก่อเจดีย์ทราย การแข่งขันมวยทะเล การประกวดนางสาวพิบูลมังสาหาร กิจกรรมถนนซาลาเปาสายน้ำ DJ/MC/CONCERT พิธีทางศาสนา ตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ปล่อยนก ปล่อยปลา การประกวดนางสงกรานต์ การประกวดขบวนแห่ทางวัฒนธรรม และขบวนแห่นางสงกรานต์ การแข่งขันบักชั่ง (ลูกข่าง) การแข่งขันเส็งกลอง การแข่งขันส้มตำลีลา การแข่งขันกินซาลาเปา การเดินแบบแฟชั่นผ้าไทย การแข่งขันหว่านแหหาปลา การแสดงวิถีชุมชนวัฒนธรรมพื้นบ้าน (รำวงย้อนยุค) การประกวดเดี่ยวพิณ เดี่ยวแคน การประกวด MISS QUEEN KANG SAPHUE อีกทั้งการแสดงของเด็กและเยาวชน ทุกกิจกรรมมีผู้สนใจเข้าร่วมงานและร่วมชมคับคั่งจากวันแรกจนสิ้นสุดวันงาน 

            ตลอดเดือนเมษายน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ปลาบปลื้มกับปรากฏการณ์ประชาชนและนักท่องเที่ยวยอดรวมประมาณ 688,000 คน สามารถกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 267,584,000 บาท จากการสำรวจผู้เข้าร่วมงานและนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อการจัดงานอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด เป็น Soft power อย่างแท้จริง โดยใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การกิน การดื่ม วิถีชีวิต หรือความเชื่อ นำเสนอผ่านสื่อ หรือผลงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวผู้คนให้หันมาสนใจแหล่งท่องเที่ยวแก่งสะพือกันมากขึ้น นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหารและทีมงานบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ช่วยกันผลักดันให้แก่งสะพือที่หลับไหลมายาวนานตื่นขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ช่วงท้ายผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวขอบคุณคณะกรรมการจัดงานพร้อมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ทำให้กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ 

            จุดประสงค์ของงานนอกจากเพื่อเสริมสร้างความรักและความสามัคคีเป็นการผูกมิตรไมตรีระหว่างคนในชุมชนและสร้างความสนุกสนานสำราญใจให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว จุดประสงค์หลักก็เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมายาวนาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน หรือกล่าวอีกนัยเป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่หายไปให้เกิดขึ้นและคงอยู่นั่นเอง

บทสรุป

            บทความ “แก่งสะพือ : ความทรงจำร่วม และการรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นถิ่น” ผู้เขียนเสนอว่า ความทรงจำร่วม (collective memory) เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมมีความทรงจำหลากหลาย แต่เป็นส่วนผสมที่อยู่ในความทรงจำร่วมกัน ถ่ายทอดและสืบสานโดยการรู้เห็นจากประสบการณ์ตรง จากคำบอกเล่า งานเขียน ไฟล์ข้อมูลภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และอื่นๆ ในที่นี้หมายถึงชาวพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีความทรงจำแนบแน่นต่อแก่งสะพือก่อนจะมีการสร้างเขื่อนปากมูล ต่อมาพวกเขาสูญเสียภาพจำเมื่อเขื่อนปากมูลถูกสร้างขึ้นและปิดกั้นสายน้ำจนเกาะแก่งจมอยู่ใต้ผืนน้ำอย่างถาวรมานานกว่า 30 ปี วันนี้วันที่เขื่อนปากมูลถูกเปิด น้ำเหนือเขื่อนลดลง ทำให้เกาะแก่งโผล่พ้นน้ำ ภาพจำเก่าๆ ของชุมชนที่มีต่อแก่งสะพืนหวนกลับมาอีกครั้ง ความทรงจำร่วมครั้งนี้กลับมายิ่งใหญ่เสมือนชดเชยวันเวลาที่สูญไป กลับมารื้อฟื้นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ผนวกรวมกับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเข้ากับกระแสโลก ถือเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่ UNESCO ขึ้นทะเบียนประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เกิดงานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 “อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival” นับเป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้ยิ่งใหญ่และสืบสานหวังจะให้ยั่งยืนสืบไป

 

*ดร.สมพงษ์ เจริญศรี. 2567. นักวิจัยอิสระ เลขที่ 111 หมู่ 12 บ้านห้วยไผ่ ต.กุดชมภู อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โทร 089-4198719   

 

บรรณานุกรม

 

จิตรกร โพธิ์งาม. วาทกรรมเขื่อนปากมูล. วิทยานิพนธ์ ปร.ด. : มหาสารคาม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

2549.

 

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ. “แม่มูล ลุ่มน้ำที่มีเขื่อนมากที่สุด” เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN). ข่าวสดหรรษา. ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน 2543 

 

ทูล ทองใจ. แก่งสะพือ. https://www.youtube.com/watch?v=CsMbtipHjbc

 

ธาดา สุทธิธรรม. การพัฒนาการท่องเที่ยวแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมตามเส้นทางลุ่มแม่น้ำมูล. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2546.

 

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. “การศึกษาความทรงจำ” ใน ชาติพันธุ์นิพนธ์ของความทรงจำ (Memory Ethnography). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 12 มกราคม 2567 

 

เรวัต สิงห์เรือง และคนอื่นๆ. โครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแก่งสะพือแบบมีส่วนร่วมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 2006