สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ประกาศให้ไทยเป็นเจ้าเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก “โคราช เอ็กซ์โป 2029”
6 มี.ค. 2567 ณ กรุงโดฮาร์ ประเทศกาตาร์ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers – AIPH) ประกาศให้สิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (International Horticultural Expo) หรือ “โคราช เอ็กซ์โป 2029” โดยการได้รับสิทธิ์จัดงานระดับโลกครั้งนี้ จะช่วยยกระดับจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพืชสวน ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature & Greenery: Envisioning the Green Future) สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย
โดยผู้แทนจากทีมประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมและนำเสนอความพร้อมของประเทศไทยในรอบสุดท้ายประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ โดยไทยจะต้องเตรียมเสนอตัวต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE (Bureau International des Expositions) ในลำดับต่อไป เพื่อรับการรับรองสู่การเป็นงานเอ็กซ์โประดับโลกอย่างสมบูรณ์แบบ
“โคราช เอ็กซ์โป 2029” หรือ งานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2573 ถือเป็นงานมหกรรมระดับโลก เป็นงานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อพันธกิจหลักของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ในการส่งเสริมความสำเร็จของอุตสาหกรรมพืชสวนผ่านการปลูกพืชเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ร่วมพัฒนาสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับโลก สำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานจำนวนประมาณ 4 ล้านคน
ประเทศไทยชูวิสัยทัศน์สู่อนาคตแห่งโลกสีเขียว
ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนับเป็นการจัดงานมหกรรมระดับโลกครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากความสำเร็จในการจัดงานในครั้งนั้นด้วย โดยนายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา
รัฐกาตาร์ ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันความสำเร็จของงานมหกรรมพืชสวนโลกที่กำลังจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2572 ณ จังหวัดนครราชสีมา (โคราช) เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความชำนาญในด้านเกษตรกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หนึ่งในหน่วยงานเจ้าภาพจัดงาน เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ด้านการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและพืชสวนของประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ โดยงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 จะเป็นเวทีระดับนานาชาติ ที่นำเสนอแนวทางการทำพืชสวนที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม มุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ขณะที่ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ชาวโคราชพร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก เพื่อสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ผสานกับวิสัยทัศน์ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน การจัดงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 ครั้งนี้ จะเป็นการพลิกโฉมเมืองโคราช โดยยกฐานะสู่เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมสีเขียว
กระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านระบบขนส่ง เกิดการหมุนเวียนเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นายสุดที่รัก พันธุ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ให้ความเห็นว่าการจัด Korat Expo 2572 จะสร้างระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มต้นเงินลงทุนจากรัฐบาลกลาง 4,800 ล้านบาท และยังมีการลงทุนจากนานาประเทศในการจัดทำบูธต่างๆ มากกว่า 35 ประเทศจากทั่วโลก ซึ่งการจัดบูธแต่ละครั้งใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เมื่อมีการขนส่งจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านระบบขนส่งทั้งทางอากาศ ทางเรือ และการขนส่งทางบก ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ เช่น ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ อุดรธานี และปราจีนบุรี ซึ่งการเชื่อมโยงในครั้งนี้ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงในระดับประเทศด้วย โดยจะมีการผลักดันเรื่องต่างๆ ผ่านหอการค้าไทย
Korat Expo 2029 เป็นงานพืชสวนระดับโลก ซึ่งจะมีหลายประเทศเข้ามาร่วมแสดงพืชพรรณ นวัตกรรม วัฒนธรรม และเยี่ยมชมงานจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสทองของการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยนักท่องเที่ยวจากหลากหลายชาติจะหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและเสริมสร้างภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี การพัฒนาด้านการศึกษาวิจัย และโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่จะมาเข้าร่วมงาน
พัฒนาจังหวัดนครราชสีมาสู่เมืองสีเขียวที่ยั่งยืน Green and Sustainability city
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า การจัดงาน Korat Expo 2029 เป็นโอกาสของการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาสู่เมืองสีเขียวที่ยั่งยืน Green and Sustainability city และยังเป็นโอกาสทางการศึกษาด้าน MICE ให้กับเยาวชน นักศึกษาและผู้สนใจในพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีแผนการดำเนินงานร่วมในการขับเคลื่อนต่อ ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพื่อจัดตั้งหลักสูตรพิเศษ Expo Academy เพื่อพัฒนาบุคลากรมืออาชีพให้กับการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Korat Expo และงานอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป.