วธ.ยกทัพผู้ประกอบการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ไทย บุกตลาดเทศกาล ภ.นานาชาติเซี่ยงไฮ้ 16-18 มิ.ย.นี้
กระทรวงวัฒนธรรม ยกทัพผู้ประกอบการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ไทย บุกตลาดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ ครั้งที่ 26 วันที่ 16-18 มิ.ย.นี้ จัดกิจกรรมจับคู่-สร้างเครือข่ายธุรกิจ ขยายตลาดอุตสาหกรรมหนัง-ละครไทยในจีน ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อน Soft Power ด้านภาพยนตร์และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ผู้นำด้านภาพยนตร์ของเอเชียและส่งเสริมคอนเทนต์ไทยให้เป็นที่นิยมแก่ผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลก เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ประชาชนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ วธ.จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินครเซี่ยงไฮ้ ครั้งที่ 26 ณ Shanghai Exhibition Center นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16 - 18 มิถุนายน 2567
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ (Roadshow) ประจำปี 2567 ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินครเซี่ยงไฮ้ ครั้งที่ 26 จำนวน 6 บริษัทดังนี้ 1. บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด 2.บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 3.บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท แบรนด์ธิงค์ จํากัด 5. บริษัท เรติน่า ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด และ 6.บริษัท ไร้ท์ บิยอนด์ จำกัด ภายในงานมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยพบกับผู้ซื้อภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์และนักลงทุนจีนที่ต้องการร่วมลงทุนกับบริษัทไทย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจด้านภาพยนตร์ ละคร โทรทัศน์และด้านอื่นๆ ในวันที่ 15 มิถุนายน 2567 ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
“วธ. บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ Content Thailand เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาตินครเซี่ยงไฮ้ ครั้งที่ 26 เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยในเวทีนานาชาติ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทย และขยายโอกาสในการจำหน่ายผลงานด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีน ที่มีความนิยมในศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสื่อบันเทิงและนักแสดงไทย จึงถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งขับเคลื่อนงาน Soft Power ด้านภาพยนตร์ ส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทยไปสู่สากล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว.