กยศ.ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกัน
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เผยมีผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีในปี 2557 จำนวนประมาณ 60,000 ราย ที่ทำการคำนวณภาระหนี้เบื้องต้นแล้ว พบว่ายังมีภาระหนี้ค้าง
หลักเกณฑ์ทำสัญญาใหม่ ยืดผ่อนชำระหนี้
• กองทุนฯ จึงขอเชิญผู้กู้ยืมกลุ่มนี้ ติดต่อปรับโครงสร้างหนี้
• มีโอกาสผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี
• ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดทันที หลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
• กองทุนฯอาจจำเป็นต้องบังคับคดีไว้ก่อน เพื่อป้องกันการขาดอายุความ แต่จะงดการขายทอดตลาดไว้ ขอให้ผู้กู้ยืมกลุ่มดังกล่าวไม่ต้องกังวลใจ
เงื่อนไขสัญญา ปรับโครงสร้างหนี้
• กำหนดให้ผู้กู้ยืมผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯ เป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
• ต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
• ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
• เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น กองทุนฯจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด
จัดมหกรรมแก้หนี้ ทั่วประเทศ
ผู้กู้ยืมสามารถเข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ที่งาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ที่จะจัดขึ้น ดังนี้
• วันที่ 27 เมษายน 2567 ณ เทศบาลเมืองบ้านสวน จังหวัดชลบุรี
• วันที่ 28 เมษายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ กรุงเทพฯ
หลังจากนั้น จะมีการจัดในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป และผู้กู้ยืมสามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่สำนักงานกองทุนฯทุกวัน โดยสามารถลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th
สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ตามกฎหมาย
กองทุนฯ ได้เตรียมดำเนินการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนให้เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยผู้กู้ยืมที่มีสิทธิ์เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ได้แก่
• กลุ่มก่อนฟ้องคดี
• กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่ยังไม่ฟ้องคดี
• กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้ว แต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
• กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีแล้ว
• กลุ่มอื่น ๆ
สถิติข้อมูล กยศ. ณ วันที่ 31 มกราคม 2567
• ยืมเงินกองทุน 6,809,339 ราย
• 52 % อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,501,935 ราย
• 20 % อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,368,761 ราย
• 27 % ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,866,022 ราย
• 1 % เสียชีวิต /ทุพพลภาพ 72,621 ราย