เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.17 : นมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง สายสัมพันธ์ไทย-ลาว สองฝั่งโขง
ความสำคัญ : วัดพระโต(พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) บ้านปากแซง ตำบลพระลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่มีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของทั้งสองประเทศคือ ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในแต่ละปีจะมีงานนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จะมีศิษยานุศิษย์จากทั้งไทยเราและจากฝั่ง สปป.ลาวมาร่วมงานกันจำนวนมาก
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยอิฐผสมปูนขาว ขนาดหน้าตักกว้าง 2.90 เมตร สูง 4.36 เมตร สูง 1.19 เมตร พระพุทธรูปที่เก่าแก่และมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนคนไทย และประชาชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เลื่อมใสศรัทธากราบไหว้บูชาตลอดมา จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญในการนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เชื่อมสายสัมพันธ์ไทย-ลาว สองฝั่งโขง และมีประชาชนทั่วสารทิศมากราบไหว้บูชาตลอดเวลา
- ประวัติและความเป็นมา
ตามประวัติเล่าว่า มีกษัตริย์สมัยขอมพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระยาแข้วเจ็ดถัน ได้เสด็จล่องเรือลงมาตามลำแม่น้ำโขงในฤดูฝน พอถึงบ้านปากแซงก็ค่ำลง จึงได้หยุดประทับแรม 1 คืน วันรุ่งขึ้น พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังหมู่บ้าน และได้พบกับเจ้ากวนของหมู่บ้านในสมัยนั้น พระยาแข้วเจ็ดถัน ได้ตรัสถามถึงประวัติของหมู่บ้าน เจ้ากวนได้เล่าให้ฟังว่า บ้านนี้มีหาดสวยงามกว้างใหญ่ ในฤดูแล้ง หาดทรายจะโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ และหาดทรายแห่งนี้มีสิ่งอัศจรรย์อยู่คือ ถ้าปีใดหาดทรายโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำระหว่างหมู่บ้าน ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อพระองค์ได้ทราบก็เกิดศรัทธาในใจว่า สักวันหนึ่งจะต้องย้อนกลับมาสร้างหมู่บ้านนี้ให้เป็นเมือง ในราว พ.ศ. 1154 พระองค์ ก็ได้เสด็จมา พร้อมด้วยข้าทาสบริวารเป็นจำนวนมาก เมื่อเสด็จมาถึง พระองค์จึงได้มอบให้เจ้าแสง ซึ่งคงจะเป็นนายชั้นผู้ใหญ่ เป็นคนควบคุมการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ก็ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อประมาณ พ.ศ. 1180 และขนานนามว่า พระอินทร์ใส่โฉม (ต่อมาเรียก พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) เมื่อเจ้าแสงถึงแก่กรรมลง ชาวเมืองได้สร้างหอหลักเมืองขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และขนานนามว่า หอแสง ต่อมาวัดแห่งนี้ก็ขาดคนบูรณะ และกลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ควาญช้างในหมู่บ้านนี้ ได้ไปพบพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว และได้บอกบุญชาวบ้านร่วมกันบูรณะวัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดพระโต (จากเอกสารฉบับภาษาลาว)
ภายในบริเวณวัดมีความสงบ ร่มรื่น และอากาศดีตลอดทั้งปี เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เมื่อเดินเข้าไปยังตัววัด ทางวัดมีการจัดสถานที่ทำบุญไว้ให้พุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธาได้ร่วมทำบุญ เมื่อเข้าไปในตัววัดจะมีดอกไม้ ธูป เทียนให้เราบูชาตามจิตศรัทธา โดยการหยอดเงินลงตู้รับบริจาคตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน จากนั้นเดินเข้าไปกราบ พระประธาน (พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) พระประธานจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้าหาแม่น้ำโขง เราสามารถขอพรจากท่านเพื่อความเป็นสิริมงคล พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงให้ความศรัทธาเป็นอย่างมาก ในทุกๆ ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี จะต้องพาครอบครัวมาขอพรจากท่านอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์
งานสำคัญ วัดปากแซงยังมีการจัดงานนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ทุกปี ในช่วงวันมาฆบูชา โดยการจัดงานจะจัดติดต่อกัน 9 วัน 9 คืน ช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านทั้งสองฝั่งโขง จะเดินทางไปกราบสักการะพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจำนวนมาก
ของที่ระทึกของฝาก วัดยังมีของฝากขึ้นชื่อ ที่ใครมาก็อดที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปไม่ได้ นั่นก็คือ ขนมฉาบทั้งหลาย เช่น กล้วยฉาบ เผือกฉาบ มันฉาบ ฟักทองฉาบ เป็นต้น มีให้เลือกหลากหลายเจ้าทำสดๆ ใหม่ๆ ให้เราได้เลือกซื้อในราคาถูก
ที่สำคัญ สำนักตรวจคนเข้าเมืองหรือด่านชายแดน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัด เปิดให้ประชาชนทั้งไทยและลาวใช้เป็นประตูผ่านเข้าออกต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งสองฝั่งได้สัญจรไปมาโดยทางเรือข้ามแม่น้ำโขง เพื่อค้าขายและเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง และร่วมทำบุญตามประเพณีอีกด้วย
วัดปากแซง ตั้งอยู่ที่ บ้านปากแซง ตำบล พะลาน อำเภอ นาตาล อุบลราชธานี การเดินทางมายังวัดปากแซง ใช้เส้นทาง ถนนหมายเลข 2050 ไปทาง อบ.4076 มุ่งไป ตำบล พังเคน เข้าสู่ อบ.4076 ไปทาง ถนนหมายเลข 2112 มุ่งไป ตำบล นาตาล เลี้ยวซ้าย เข้าสู่ ถนนหมายเลข 2112 แล้วเลี้ยวขวา ก็จะถึงปลายทางวัดปากแซง ระยะทางจากจังหวัดอุบลราชธานี ถึงวัดปากแซง ประมาณ 100 กิโลเมตร ตามเส้นทาง อุบลราชธานี-ตระการพืชผล-เขมราฐ-นาตาล หรือเดินทางจากจังหวัดมุกดาหาร-ดอนตาล-ชานุมาน-เขมราฐ-นาตาล ถึงวัดปากแซง สะดวก และอีกเส้นทางจาก จังหวัดอำนาจเจริญ-ปทุมราชวงศา-เขมราฐ-วัดปากแซง ซึ่งเส้นทางคมนาคมสะดวกปลอดภัยทุกเส้นทาง.
…….
- ปัญญา แพงเหล่า / รายงาน