อุบลฯ สรุปอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ยอดผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ลดลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง

   เมื่อ : 05 ม.ค. 2567

          5 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานประชุมปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เข้าร่วมประชุมปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมศรีสิงหเทพ (POC) ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี

          ในช่วงรณรงค์ควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2567 ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฯ อำเภอ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการแนวทางของแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุในช่วงเทศกาล โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สะสม 7 วัน สรุปดังนี้

            1. อุบัติเหตุเกิดขึ้น 3 ครั้ง เปรียบเทียบกับปีใหม่ 2566 (7 ครั้ง) ลดลง 4 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 57.14

            2. มีผู้เสียชีวิต 2 คน เปรียบเทียบกับปีใหม่ 2566 (6 ราย) ลดลง 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 66.66 

            3. มีผู้บาดเจ็บ (admit) 1 ราย เปรียบเทียบกับปีใหม่ 2566 (2 ราย) ลดลง 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.00 

            สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตัดหน้ากระชั้นชิด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ถนนทางหลวงชนบท ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เวลา 06.01 – 09.00 น. 09.01 – 12.00 น. และเวลา 15.01 – 18.00 น. และผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่ คือ คนในพื้นที่ อายุที่เกิดอุบีติเหตุสูงสุด คือ อายุ 30 39 ปี 50 – 59 ปี และอายุ 70 ปีขึ้นไป

            ถึงแม้ว่าการดำเนินการควบคุมเข้มข้นจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ศูนย์ปฏิบัติการฯ ยังต้องดำเนินการรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ช่วงหลังควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 5 - 11 มกราคม 2567 โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) ประสานความร่วมกับโรงพยาบาล สถานีตำรวจ รวบรวมการรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ในระบบรายงาน e-Report ตามแนวทางที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกำหนด

            ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จังหวัดต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการนำผลข้อมูลไปวิเคราะห์ถอดบทเรียน ค้นหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัย ที่ส่งผลให้เกิดสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อกำหนดมาตรการ แนวทางดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้ครอบคลุมความเสี่ยงในทุกมิติต่อไป.