รายงานพิเศษ 9 : มหานทีสีพันดอน แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ แห่งลำน้ำโขงลาวใต้

   เมื่อ : 08 มี.ค. 2567

            สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนา ถาวร.. เป็นชื่อและคำขวัญของประเทศลาวหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 (1975) เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 

            การพัฒนาประเทศตามแนวทางของสังคมนิยมได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ เพื่อความมั่นคงและสู่สากลในที่สุด ซึ่งมีแบบอย่างที่ดีที่สนใจ น่าศึกษาเป็นความรู้ยุคโลกไร้พรมแดน

            เมื่อปี พ.ศ.2542-2543 (1999-2000) สปป.ลาวเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยใช้นโยบายการท่องเที่ยวเป็นหลัก “ประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวลาว” มีชาวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนมากมุ่งสู่ สปป.ลาว เพื่อทัศนศึกษาและเยี่ยมชมบ้านเมืองยุคใหม่ และในปี พ.ศ.2567 (2024) สปป.ลาว กำหนดให้ปี 2567 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลได้เปิดปีท่องเที่ยวลาว Visit Laos Year 2024 หวังสร้างความสดใสกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญใน การบริหารประเทศอีกทางหนึ่ง

            จากจุดเริ่มต้นและการประกาศเปิดประเทศเมื่อปี (1999-2000) เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว นับว่าเป็นวิสัยทัศน์สำคัญ และ สปป.ลาว ได้เปิดทางเชื่อต่อกับชายแดน ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เป็นด่านสากลโดยการสร้างสะพานข้าม แม่น้ำโขงที่เมืองปากเซ (สะพานลาว-ญี่ปุ่น) ทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ส่งผลต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย

            ความสำคัญ คือ แนวทางการพัฒนาลาวตอนใต้ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์มายาวนาน สิ่งที่ชาวโลกกล่าวถึงคือ เสน่ห์ของแม่น้ำโขงที่ กว้างใหญ่ไพศาล เป็นตำนานสืบทอดกันมานับร้อยปี คือ มหานที สีพันดอน คอนพะเพ็ง หลี่ผี ที่เคยเป็นสมรภูมิของนักล่าอาณานิคม มีร่องรอยประวัติการต่อสู้และความขมขื่นให้พบเห็น เช่น อู่ต่อเรือ สถานีรถไฟขนส่งสินค้า ยุทธปัจจัย และสะพานรถไฟข้ามหมู่เกาะที่ดอนเดชกลางลำน้ำโขง เป็นที่มาของประวัติศาสตร์ไทย-ลาว-เขมร-ฝรั่งเศส-เวียตนาม และญี่ปุ่นที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของโลก 

            การคมนาคมสมัยก่อน เมื่อปี พ.ศ.2447 เมอสิเออร์ มาเฮ ผู้สำเร็จราชการประเทศลาวได้ทำการสำรวจเส้นทางคมนาคมตามแม่น้ำโขง เพื่อติดต่อเดินทางจากเวียงจันทน์ ไซง่อน และได้ตั้งบริษัทเดินเรือในลำน้ำโขงคนแรก เรียกว่า “Compani des Messageries Flaviales des Cochinchine” โดยมีรัฐบาลฝรั่งเศสในอินโดจีนให้การช่วยเหลือสนับสนุน มีการสร้างสถานีเรืออู่ต่อเรือที่ดอนเดชเหนือแก่งหลี่ผี กำหนดระยะทาง และพนักงานสำรวจร่องน้ำลึก รวมทั้งการจัดหาเชื้อเพลิงให้มีทุกสถานีบริษัทเดินเรือใน ลำน้ำโขงดังกล่าวนี้ยังได้วัดระยะทางในลำน้ำโขงเริ่ม กม.000 ที่เมืองไซ่ง่อน ที่หลี่ผีเป็น กม.720 ที่เมือง โขงเป็น กม.741 ที่ปากเซเป็น กม.889 ที่ปากมูล (อ.โขงเจียม) เป็น กม.915 ที่สวรรณเขตเป็น กม.1,126 ที่เวียงจันทน์ กม.1,584 และสิ้นสุดที่หลวงพระบาง เป็น กม.2,111 ในฤดูน้ำมากราว พ.ศ.2450 มาเอ เคยนำเรือกลไฟ ชื่อปาวีเข้ามาตามลำน้ำมูล เพื่อจะดูการจัดตั้งกงสุลฝรั่งเศส ที่จังหวัดอุบลราชธานี และเข้าเฝ้ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ แล้วเรือปาวีได้แล่นไปถึงเมืองยโสธรด้วย

            สายน้ำโขง คือ แม่น้ำนานาชาติที่ประเทศได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะไทย-ลาว ได้ใช้ร่วมกันกว่า 850 กิโลเมตร ตลอดสายน้ำอันกว้างใหญ่ มีบรรดาเกาะแก่งมากมายจากเหนือสุดใต้ ก่อนแม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่กัมพูชาแห่งสุดท้าย คือ เทือกเขาพนมดงรักได้ขวางกั้นแม่น้ำโขงทำให้เกิด เกาะแก่งและน้ำตกที่สำคัญมีชื่อเสียงโด่งดังมาหลายยุคหลายสมัย เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการเดินเรือเพื่อออกสู่ทะเล หรือจากทะเลขึ้นมานับว่าเป็นกำแพงอันแข็งแกร่งที่ธรรมชาติสร้างให้ แต่มีนักทำลายพยายามจะระเบิดแก่งหินนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

            สำหรับสายธารจากแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน บริเวณเทือกเขาพนมดงเล็ก - เทือกเขาแดนญวน จะเกิดเป็นทำนบกั้นแม่น้ำโขงไว้จึงทำให้เกิดเกาะ(ดอน) แก่ง(คอน) ช่อง(ฮู) มากมาย มีพื้นที่กว้างประมาณ 15-20 กม. ยาวประมาณ 5 กม. เรียกบริเวณนี้ว่า หลี่ผี หรือ ช่องโสมพะมิด ซึ่งมีช่องสำคัญอยู่ 4 ช่อง คือ

            1. ช่องโสมพะมิด (หลี่ผี) อยู่ฝั่งทิศตะวันตกและมีสายธารเล็กๆ แยกย่อยสวยงามมาก

            2. ช่องสาระเพ เป็นช่องที่อยู่ถัดจากช่อง โสมพะมิดลงไป หากต้องการชมต้องย้อนไปนั่งเรือที่ หัวดอนเดช - ดอนช้าง มีน้ำตกสวยงาม และลานหินจากธรรมชาติ

            3. ช่องช้างเผือก อยู่ทิศตะวันออกของดอน คอน ถัดกันมาประมาณ 500 เมตร

            4. ช่องปะเพ็ง เป็นช่องที่มีน้ำตกสูงถึง 18 เมตร ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นน้ำตกที่สวยที่สุด มีผู้ให้สมญานามว่า “ไนแองการ่าแห่งเอเชีย” และมีช่องสำคัญอีกช่องหนึ่งคือช่องสะดำที่ เกิดจากไพร่พลของเขมรร่วมกันขุดอ้อมหนีน้ำตก เพื่อการเดินทางเรือให้ปลอดภัยต่อมาฝรั่งเศสใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าและล่องไม้ซุงจากลาวสู่พนมเปญ และไซ่ง่อนตามลำดับ

            ในบริเวณเกาะต่างๆ เหล่านี้ เมื่อฝรั่งเศสปกครองลาวได้มีการสร้างสถานีเรือใต้แก่งหลี่ผี และสร้างทางรถไฟจากดอนสุดขึ้นไปที่ดอนชมเหนือแก่งหลี่ผี มีความยาว 5 กม. สำหรับขนถ่ายสินค้าจาก ไซ่ง่อนจากพนมเปญขึ้นสู่เวียงจันทน์-หลวงพระบาง อุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นการลำเลียงและการต่อสู้ หรือล่าอาณานิคมคือ “หลี่ผี” ความสำคัญเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อสมัยนครจำปาศักดิ์อยู่ในปกครองของไทย พ.ศ.2484 มีศาลากลางจังหวัดนครจำปาศักดิ์ และได้ตั้งกิ่งอำเภอขึ้นที่เกาะดอน(ใกล้หลี่ผี) เป็นกิ่งสีทันดอนส่วนเกาะโขง(ดอนโขง) เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดและมีบริวารเกาะอีกมากมายเช่น เกาะชัย เกาะแดง เกาะเสนง เกาะลาย เกาะดอนคำ เกาะฮี และต่อมาเรียกหมู่เกาะนี้ว่า สีทันดอน และมาเป็นสี่พันดอน ตามลำดับ ที่สำคัญคือ ดอนเดช ดอนคอน ดอนสะดำ ดอนโสมฯลฯ

            เมื่อปี พ.ศ.2467 มีการเดินเรือกลไฟจากอุบลราชธานี - พิบูลมังสาหาร - ปากเซ - ไซ่ง่อน ตลอดเส้นทางของการเดินเรือ ผู้สัญจรจะมีความวิตกกังวลเมื่อการเดินทางผ่าน แก่งหลี่ผี เพราะเป็น แก่งที่อันตราย ต้องขนถ่ายจากเรือต่อด้วยรถไฟที่เหนือหลี่ผี - ผ่านดอนเดชสุดท้ายที่ใกล้คอนพะเพ็ง จึงเป็นเส้นทางสู่ท่าเรือ ใต้แก่งซึ่งห่างออกไปและมีระดับต่ำกว่าแก่งหลี่ผี ประมาณ 100 เมตร ดังนั้น ความสูงและกระแสน้ำตกล้วนแต่เป็นอันตราย ทำให้ผู้คนสูญหาย ล้มตาย อยู่เป็นประจำ ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นได้ตักเตือนนักท่องเที่ยว และชาวประมงพื้นบ้านอยู่เสมอว่า ขอให้ระมัดระวังในการเที่ยวชม หรือลงเล่นน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าพลัดตกลงไปจะจมน้ำเสียชีวิตทุกราย ในมหานที สี่พันดอน คอนพะเพ็ง หลี่ผี นี้ยังมีสิ่งที่สำคัญเป็นตำนานเล่าขานไม่รู้จบ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความก้าวหน้า การพัฒนา ประเทศชาติ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศเพื่อนบ้านให้มีความเจริญมั่นคง และวัฒนาถาวรสืบไป.

        …………..

  • ปัญญา แพงเหล่า...รายงาน