เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.11 พิพิธภัณฑ์เกษมสีมา มรดกล้ำค่าเมืองอุบล
วัดเกษมสำราญ ตั้งอยู่บ้านเกษม หมู่ที่ 8 ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี บนเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 83 ตารางวา มีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย พระอุโบสถ ขนาด 6 เมตร คูณ 12 เมตร สร้างเมื่อปี 2487 ก่อด้วยอิฐถือปูน โครง หลังคามุงด้วยไม้ ช่อฟ้าใบระกาแกะลวดลายด้วยไม้ตะเคียน ปี 2519 ได้เปลี่ยนหลังคาใหม่เป็นสังกะสีจนถึงปัจจุบัน
พระครูเกษมธรรมานุวัตร เจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ เล่าว่า จากการสำรวจหลักฐานที่ปรากฏพบข้อมูลที่เป็นทางการว่า ตั้งขึ้นเมื่อปี 2291 ประมาณ 263 ปีมาแล้ว เดิมชื่อ วัดศรี โพธิ์ชัย เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดเกษมสำราญ เมื่อปี 2484 เหตุผลที่เปลี่ยนเพราะเป็นชื่อซ้ำกับวัดเจ้าคณะอำเภอ ตระการพืชผล ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ไทยใหม่ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใหญ่
วัดเกษมสำราญ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเขต จ.อุบลราชธานี และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามประวัติเมืองเกษมสีมา ปรากฏว่าวัดแห่งนี้ เคยมีพระผู้นำระดับสูง (สังฆราช) จากนครเวียงจันทน์ มาพำนักอยู่วัดแห่งนี้ ประกอบกับ หมู่บ้านแห่งนี้ เคยมีฐานะเป็นเมืองเกษมสีมา ระหว่างปี 2425 - 2452 ต่อมาเมืองเกษมสีมารวมกันกับเมืองอุตรูปลนิคม เรียกชื่อใหม่ว่า อำเภออุดรอุบล มีการปรับปรุงการปกครองจนถึงปี 2455 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระยาวิเศษสิงหนาท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุบลราชธานี ได้เปลี่ยน ชื่อ อ.อุดรอุบล กลับคืนมาเป็น อ.เกษมสีมา อีกครั้งหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองถึงปี 2459 กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ”จังหวัด” ตำแหน่ง ”ผู้ว่าราชการเมือง” เปลี่ยนเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ตั้งแต่ปี 2459 เป็นต้นมา และปีถัดมา เพื่อให้สอดคล้องกับ การประกาศเรียกนาม เมืองเป็นจังหวัด มท. ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ อำเภอใหม่ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460 ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา อ.เกษมสีมา ก็ ถูกลดฐานะมาเป็นตำบล จนถึงปัจจุบัน
นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการรวบรวมวัตถุโบราณ และจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ” แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นว่า พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา ได้รวบรวมวัตถุสิ่งของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญที่ต้องสืบค้น บันทึก ศึกษา หากคนทำไม่มีใจรักยากที่จะสำเร็จได้ มีวัดหลายแห่งที่พยายามจะดำเนินการแต่ไม่สำเร็จ หลายปีที่ผ่านมา วัดเกษมสำราญได้เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่มีมาแต่โบราณ นับวันแต่จะหายไปจากท้องถิ่นและชุมชน มีบางอย่างตกอยู่ในมือพ่อค้ารับซื้อของเก่า บางอย่างชำรุดตามอายุการใช้งาน บางอย่างถูกทิ้งขว้างไม่ได้รับความสนใจ สิ่งของเหล่านี้มีรากเหง้าภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น การรวบรวม และอนุรักษ์สิ่งของเหล่านี้ จึงเป็นการสืบสานภูมิปัญญา ภูมิรู้ของบรรพชนในท้องถิ่นให้ยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
ดังนั้น พระครูเกษมธรรมานุวัตร ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงร่วมกับประชาชนในหมู่บ้านและทุกภาคส่วน โดยการรวบรวมข้อมูลวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ในวัด เช่น พระพุทธรูปไม้ งานพุทธศิลป์ต่างๆ และถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ให้เห็นความสำคัญ รวมทั้งการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมบริจาคสมทบ ใช้เวลานานหลายปี ทำให้มีวัตถุสิ่งของจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปี 2544 ได้เริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์คอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี 2552 กอปรกับในช่วงนั้นทาง ดร.ศักดิ์ชาย สิกขา และ ดร.ประทับใจ สิกขา และทีมงานจากคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) จัดทำโครงการให้ความรู้เกี่ยวการในการออกแบบ และพัฒนาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในภาคอีสาน มีการระดมความคิดเห็นจากชาวบ้าน และมีมติเห็นชอบให้ใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา” เป็นชื่อที่ดี สื่อความหมายถึงชุมชนเก่าแก่ในอดีต มาตกแต่งภายในตามแบบแปลนร่วมกับช่างในชุมชน มีการจัดทำ ทะเบียนกำกับวัตถุโบราณ และสิ่งของที่รับบริจาค โดย น.ส.รัตรินทร์ คลังตระกูล จัดทำข้อมูลต่างๆ จัดเป็นหมวดหมู่ มีนักศึกษาที่เรียนในรายวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา เป็นแหล่งรวบรวมและสืบสาน มรดกอันล้ำค่าของ จ.อุบลราชธานี อีกแห่งหนึ่ง เป็นผลงานและความภาคภูมิใจของพระครูเกษมธรรมานุวัตร เจ้าอาวาส และชาวบ้านเกษมที่มีความพยายามทุ่มเท มุ่งมั่นสร้างแหล่ง เรียนรู้ในชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจ รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง และเปิดให้เข้าชมทุกวัน
นอกจากความสำคัญในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว วัดเกษมสำราญโดยการนำของพระครูเกษมธรรมานุวัตร ยังมีผลงานที่โดดเด่นได้รับการชื่นชมเป็นแบบอย่างในการพัฒนาท้องถิ่นหลายกิจกรรม เช่น ปี 2548 เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาดีเด่นของโรงเรียนบ้านเกษม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราช ธานี เขต 2 ปี 2551 เป็น ผู้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมตามโครงการเมืองไทยเมืองคนดี จากกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และ ได้รับโล่เกียรติยศ รางวัล เพชรแผ่นดิน สาขา ผู้นำศาสนาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจาก ศ.ดร.นิพนธ์ ศศิธร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และปี 2552 ได้รับเกียรติบัตรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมระดับจังหวัด ด้านการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวด “วัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ระดับจังหวัด”
พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา เปิดให้ผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้ใฝ่ธรรมะ และนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน.
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน