นครพนม ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ขอขึ้นทะเบียน “พระธาตุพนม” เป็นมรดกโลก
12 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุมพลโทสนธยา ศรีเจริญ ชั้น 2 อาคารพระพรหมบัณฑิต วิทยาลัยสงฆ์นครพนม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก ครั้งที่ 3/2566 โดยมีพระครูสิริเจติยานุกิจ ผศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครพนม พระครูศรีพนมวรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร พร้อมด้วย นางยุวดี มีบุญ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปกครองอำเภอธาตุพนม ประชาสัมพันธ์จังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เทศบาลตำบลธาตุพนม เทศบาลตำบลธาตุพนมใต้ เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานและประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลก
โดยกระบวนการขอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดกโลกในปี 2567 ต้องดำเนินการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ครั้งที่ 2 ปรับปรุงเอกสารฉบับสมบูรณ์ (Nomination Fine) ประชุมตรวจรับเอกสารฉบับสมบูรณ์ เตรียมส่งเอกสารฉบับสมบูรณ์ เสนอคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาการขอขึ้น พระธาตุพนมสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม เสนอคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขอขึ้น พระธาตุพนมสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม
สำหรับแผนสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนพระธาตุพนมสู่มรดกโลก ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับพื้นที่อำเภอธาตุพนม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปกป้อง คุ้มครอง เชิดชู บูชา พระธาตุพนมสู่มรดกโลก ซึ่งพระธาตุพนมมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มรดกโลก 4 ข้อ
- เกณฑ์กลุ่มศาสนสถานพระธาตุพนม เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์เอกลักษณ์และพลังแห่งศรัทธาที่สัมพันธ์ของชุมชนและธรรมชาติ
- เกณฑ์พระธาตุพนม เป็นประจักษ์พยานที่สืบเนื่องและยังคงดำเนินอยู่ ของพระพุทธศาสนาจากอินเดียสู่ลุ่มแม่น้ำโขงในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ที่ได้มีการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่น
- เกณฑ์กลุ่มศาสนสถานพระธาตุพนม เป็นประจักษ์พยานที่มีเอกลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรม การบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
- และเกณฑ์กลุ่มศาสนสถานพระธาตุพนม และภูมิทัศน์วัฒนธรรม มีความเกี่ยวเนื่องกับประเพณีการบูชาพระธาตุที่ยังคงดำรงอยู่และเหตุการณ์ในมหาปรินิพพานสูตร ในพระไตรปิฎกวรรณกรรมที่สำคัญของโลก
ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา 3 ประเด็น ประเด็นการจัดทำเทศบัญญัติพื้นที่แนวกันชน 2 (Buffer Zone 2) ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบเทศบาลตำบลธาตุพนมใต้ ประเด็นการจัดทำเทศบัญญัติพื้นที่แนวกันชน 2 (Buffer Zone 2) ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบเทศบาลตำบลธาตุพนมซึ่งตั้งอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ และประเด็นการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานราชการและสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องในด้านการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร หากการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดแล้ว จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2568 ต่อไป.
Cr.กรมประชาสัมพันธ์