รายงานพิเศษ : ดินแดนตะวันออกสุดในสยาม… 5 อำเภอสุดท้ายชายแดนแม่น้ำโขง

   เมื่อ : 21 พ.ค. 2568

          จังหวัดอุบลราชธานี เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์ คนดีศรีอุบล…

           ...จากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม เป็นดินแดนแหล่งธรรมะ ถิ่นกำเนิดพระอริยสงฆ์ เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา และมีพระสงฆ์ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จ จำนวนมากถึง 5 รูป มีศิลปินแห่งชาติ จำนวน 16 คน ครบทุกสาขา และมีการสืบสานงานประเพณีอันดีงามเป็นมรดกล้ำค่าเทียนพรรษาภูมิปัญญาเมืองอุบลราชธานีสมญานาม ว่า เมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งเดียวในสยาม 

            จังหวัดอุบลราชธานี มีเขตปกครอง 25 อำเภอ มีประชากรเกือบ 2 ล้านคน และมีอาณาเขตติดชายแดนติด 3 ประเทศ คือไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และกัมพูชาประชาธิปไตย มีพื้นที่รอยต่อสามประเทศ  ไทย-ลาว-กัมพูชา คือ สามเหลี่ยมมรกต ซึ่งในจำนวน 25 อำเภอ จะมี 5 อำเภอที่ตั้งอยู่แนวชายแดนด้านตะวันออกมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนไทยลาว คือ อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโขงเจียม และอีก 5 อำเภอ ตั้งอยู่แนวชายแดนไทย- ลาว- กัมพูชา คือ อำเภอสิรินธร อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน และอำเภอน้ำขุ่น

            ความสำคัญ : ความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชายแดนตะวันออกสุดของประเทศไทย มี 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโขงเจียม และทั้ง 5 อำเภอ เป็นพื้นที่ตามแนวชายแดนแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนไทยลาว ซึ่งฝั่งตรงข้ามคือ แขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และแขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)

            สำหรับ พื้นที่ 5 อำเภอ เป็นดินแดนสุดท้ายริมฝั่งแม่น้ำโขงจากอำเภอเขมราฐถึงอำเภอโขงเจียม มีความยาวกว่า 150 กิโลเมตร ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ชายแดน สปป.ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทศาสตร์และความมั่นคง และมีประวัติศาสตร์มายาวยานกว่า 200 ปี และกำลังพัฒนาฟื้นฟูและส่งเสริมตามศักยภาพทุกด้านอย่างต่อเนื่อง 

           1. อำเภอเขมราฐ หรือ “เมืองเขมราษฏรธานี 2357” นับถึงปัจจุบัน มีอายุกว่า 200 ปี ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 200 ปี เขมราษฏรธานี เมื่อปี 2557 และเกิดโครงการถนนสายวัฒนธรรม และกิจกรรมต่างๆ มากมาย กลายเป็นชุมชนต้นแบบระดับประเทศ ซึ่งชาวเขมราฐ มีความคาดหวังว่าจะมีโอกาสยกระดับเป็นจังหวัดหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบมุกดาหาร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีแข่งเรือยาว 2 ฝั่งโขง ผ้าโบราณ อาหารพื้นเมือง และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ หลากหลาย นับเป็นอำเภอที่มีความพร้อมที่จะยกระดับพัฒนา คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

           2. อำเภอนาตาล เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเขมราฐ ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอนาตาล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2537 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2537 ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอนาตาล และมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปี 2550 เป็นต้นมา

            อำเภอนาตาล มีสถานที่และเแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง ศูนย์รวมศรัทธาประชาชนสองฝั่งโขง มีด่านชายแดนถาวร เปิดการค้าขายกับต่างประเทศ และมีโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวริมฝั่งโขงอีกด้วย นับเป็นอำเภอที่มีประวัติและความสำคัญ พร้อมจะพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าทุกด้าน 

           3. อำเภอโพธิ์ไทร เดิมคือ ส่วนหนึ่งของอำเภอเขมราฐ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยแบ่งท้องที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งเป็น กิ่งอำเภอโพธิ์ไทร และต่อมาก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอโพธิ์ไทร ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2530 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2530 

            อำเภอโพธิ์ไทร มีสถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยว มีชื่อเสียงระดับประเทศ คือ สามพันโบก และเป็นอำเภอชายแดนริมฝั่งโขง มีแหล่งจับปลาธรรมชาติ ที่ร่องน้ำโขงแคบที่สุด 56 เมตรที่บ้านสองคอน มีแหล่งท่องเที่ยวตามลำน้ำโขง เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และมีเสาเฉลียงใหญ่ที่สุด มีความพร้อมในการยกระดับและพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า

           4. อำเภอศรีเมืองใหม่ เดิมชื่อ เมืองโขงเจียม อำเภอนี้มีการย้ายที่ตั้งว่าการอำเภอหลายครั้ง เดิมตั้งอยู่บ้านปากแซง ในปี พ.ศ. 2364 เรียกว่า เมืองโขงเจียมเหนือ ต่อมาในปี 2424 ย้ายไปตั้งที่ทำการใหม่ที่บ้านนาคอ เรียกว่า เมืองโขงเจียมใต้ ประมาณปี พ.ศ. 2446 ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่บ้านนาเอือด เรียกว่า อำเภอโขงเจียม พ.ศ.2457 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านด่านปากมูล พ.ศ.2500 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งใหม่ที่โคกหมาจอก มีการจัดวางผังเมืองขึ้นใหม่ โดยมีวงกลมเสาธงกลางเมืองเป็นศูนย์กลางหมู่บ้านที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้จึงมีชื่อว่า บ้านศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม ต่อมา พ.ศ. 2514 ไปเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอศรีเมืองใหม่จนถึงปัจจุบัน

            อำเภอศรีเมืองใหม่ มีสถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยว คือ วัดภูหล่นและอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูรทัตโต ถิ่นกำเนิดหลวงปู่มั่น เมืองนักปราชญ์ และศิลปินแห่งชาติ ที่ตั้งโครงการพระราชดำริ โรงเรียนบ้านโหง่นขาม - ดงนา มีความพร้อมที่จะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าครอบคลุมทุกด้าน 

            5. อำเภอโขงเจียม เดิมมีฐานะเป็นเมือง ชื่อเมืองโขงเจียมพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมื่อ พ.ศ.2364 โดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ ครั้งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภายหลังจากปราบปรามกบฏอนุวงศ์แห่ง เวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว) โปรดเกล้าฯ ให้เมืองโขงเจียมไปขึ้นตรงต่อเมือง เขมราฐ เมื่อ พ.ศ.2371 ในคราวปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว พ.ศ.2443-2445 เมืองโขงเจียมถูกลดฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ ต่อมาได้ยุบ เมืองเขมราฐลงเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองยโสธร 

            เมืองโขงเจียมจึงมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองยโสธร ปี พ.ศ.2457 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บริเวณบ้านด่านปากมูลและเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอสุวรรณวารี เมื่อปี พ.ศ.2460 และในปี พ.ศ.2482 ทางราชการได้ ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอสุวรรณวารีเป็นอำเภอโขงเจียมอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ.2500 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ โขงเจียมมาตั้งที่โคกหมาจอก (บ้านศรีเมืองใหม่ ตำบลนาคำในปัจจุบัน) ส่วนที่เป็นที่ตั้งอำเภอโขงเจียมเดิมนั้น ให้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านด่าน และยกฐานะเป็นอำเภอบ้านด่านเมื่อ พ.ศ.2502 ต่อมา พ.ศ.2514 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโขงเจียมอีกครั้งหนึ่ง จนถึงปัจจุบัน 

            อำเภอโขงเจียม มีสถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติแห่งตะนะ เป็นดินแดนที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม แม่น้ำมูลบรรจบแม่น้ำโขง เกิดแม่น้ำสองสี โขงสีปูน มูลสีคราม เขื่อนปากมูล และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอำเภอสุดท้ายริมฝั่งโขงชายแดนไทยลาว มีความพร้อมในการยกระดับพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าทุกด้านต่อไป

          ด้วยศักยภาพและทรัพยากรที่หลากหลายในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนริมแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานี มีความพร้อมที่จะยกระดับรองรับการพัฒนาทุกมิติ ซึ่งมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนที่รัฐบาลและหน่วยงานรับผิดชอบ จะต้องร่วมมือกับพื้นที่เพื่อกำจัดปัญหาอุปสรรคให้หมดสิ้นไป 

            ส่วนอีก 5 อำเภอตามแนวชายแดนรอยต่อ 3 ประเทศ ไทย-ลาว-กัมพูชา (สามเหลี่ยมมรกต) จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอตามลำดับต่อไป

        ………

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

        20 พฤษภาคม 2568

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ