รอบรู้กฎหมาย : ป้ายห้ามจอดรถขวางทางเข้าออก
เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นชินกับป้ายประกาศ “ห้ามจอดรถขวางทางเข้าออก” ที่ติดอยู่ตามหน้าบ้านซึ่งอยู่ริมถนน บางท่านอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องเล็กๆ ที่พอมีปัญหาก็แค่บอกกล่าวกันเรื่องก็จบ
แต่ในความเป็นจริง บางครั้งบางอารมณ์ของคนเรา เรื่องมันก็ไม่ได้ง่ายอย่างนั้นเสมอไป เมื่อมีใครสักคน ขับรถมาจอดอยู่ตรงหน้าบ้านที่มีป้ายแจ้งเตือนว่า “ห้ามจอดรถขวางทางเข้าออก” จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อเจ้าของบ้านนำรถออกจากบ้านไม่ได้ ขอให้เจ้าของรถขยับรถไปจอดที่อื่น หากคู่กรณีคุยกันเข้าใจก็ไม่เกิดปัญหา แต่เพราะความที่ว่า ทุกคนย่อมมีอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่าง เมื่อเกิดกรณีเจ้าของรถไม่ยอมและให้เหตุผลว่า ถนนหน้าบ้านเป็นที่สาธารณะ กระทั่งมีปากเสียงกันจนถึงขั้นไปแจ้งความ เมื่อเจอตำรวจบางคนอ้างว่า ยังไม่เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายใดชัดเจน การดำ เนินคดีใดๆ จึงไม่เกิดและไม่รับแจ้งความ
ทีนี้ล่ะครับ ป้ายห้ามจอดรถขวางทางเข้าออก จึงเท่ากับระเบิดเวลาที่ตั้งอยู่หน้าบ้านดีๆ นี่เอง เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงเกิดความเคืองแค้นอยู่ภายใน และเมื่อทั้งเจ้าของบ้านหรือเจ้าของรถเกิดกรณีขัดแย้งแบบเดิมขึ้นอีก การระบายโทสะจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา บ้างก็อาจจะมีปากมีเสียงจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ บ้างก็อาจจะทำลายทรัพย์สินหรือตัวรถเพื่อให้หลาบจำ และบางกรณีอาจต้องเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย...สุดท้าย รถคันใหม่(คู่กรณีใหม่) ก็จะแวะเวียนมาจอดให้เกิดเรื่องอยู่ดังเดิม ทั้งนี้เนื่องจากการแก้ปัญหา จากกรณีดังกล่าวมิได้แก้ไขกันที่ต้นเหตุนั่นเอง...
ประการสำคัญในการแก้ไขคือ ต้องเข้าใจให้ตรงกัน กล่าวคือ กฎหมายในบางครั้งอาจจะเขียนไม่ครอบคลุมทุกพฤติกรรมของคนเรา หากแต่การปรับตัวบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงนั้นสามารถทำได้ อย่างกรณีหมวดลหุโทษซึ่งกฎหมายได้เขียนไว้ เพื่อควบคุมให้บุคคลในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันจนเกินควร อาทิ กรณีการจอดรถขวางประตูเข้าออกผู้อื่น การเลี้ยงสัตว์ การส่งเสียงดัง และกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ จนรบกวนการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น สามารถที่จะใช้บางมาตราในหมวดลหุโทษปรับใช้เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดได้
ความผิดลหุโทษ อยู่ในหมวดสุดท้ายของกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิด 5000 – 10000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้อีกด้วย และเพื่อความสะดวกในการควบคุมดูแลสังคม นอกจากศาลจะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจยังสามารถเปรียบเทียบปรับสำหรับคดีในหมวดนี้ได้อีกด้วย ดังนั้น การกระทำซึ่งมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สร้างความเดือนร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่นอย่างกรณีจอดรถขวางทางเข้าออกหน้าบ้านของผู้อื่น แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า สร้างความเสียหายที่พอจะฟ้องร้องศาล หากแต่ก็ถือได้ว่า เป็นพฤติกรรมที่สร้างความเดือนร้อน จะอ้างว่าถนนหน้าบ้านเป็นที่สาธารณะ เจ้าของบ้านย่อมไม่ควรใช้รถเมื่อรถของตนจอดอยู่นั้นไม่ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากถือว่าเจ้าของรถใช้สิทธิไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ทั้งๆ ที่รู้ถึงผลกระทบและความเสียหายเยี่ยงวิญญูชนพึงรู้ จึงถือว่ามีความผิดตาม มาตรา 397 หมวดลหุโทษ
อย่างไรก็ดี สำหรับเจ้าของบ้านก่อนที่จะแจ้งความเพื่อเอาความกับเจ้าของรถ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนมีความเดือนร้อนรำคาญจริง มีการปิดป้ายแจ้งเตือนแล้ว และตนมีรถเข้าออกหน้าบ้านจริงหรือยืนยันได้ว่ามีรถในบ้านซึ่งพร้อมที่จะเข้าออก จากนั้นเมื่อมีรถมาจอดขวางประตู ก็ให้รีบไปแจ้งความเพื่อเอาผิดตามที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนบทลงโทษจะเป็นอย่างไร นั่นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำคัญต้องขยันหรือมีความอุตสาหะในการไปแจ้งความหน่อยนะครับ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น อย่าได้ใช้อารมณ์เข้าแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด เพราะนั่นยิ่งจะเป็นการเพิ่มความยุ่งยากและไร้ประโยชน์
อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นดีที่สุดครับ.
๐ ธนกฤต วงษ์พรต