รอบรู้กฏหมาย : “ผู้ค้ำประกัน” ขอบเขต สิทธิ และการพ้นผิด
ลูกหนี้ส่วนใหญ่ เมื่อสิ้นด้วยปัญญาที่จะชดใช้ แน่นอนครับ การหนีมักจะเป็นตัวเลือกแรกมากกว่าที่จะเผชิญหน้าขอเจรจาผ่อนปรน โดยลืมหรือแกล้งลืมเพื่อเอาตัวรอดไปว่า ยังมีอีกคนหนึ่งซึ่งจะยังคงไว้ให้ “เจ้าหนี้” ตามเช็คบิลได้อยู่ นั่นคือ “ผู้ค้ำประกัน”
“ผู้ค้ำประกัน” หมายถึง การที่ลูกหนี้จะทำสัญญาใดๆ กับเจ้าหนี้ เอกสารสัญญานั้นจะมีข้อความอันเป็นสาระสำคัญ เพื่อรับรองหรือเป็นหลักประกันว่า หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ “ผู้ค้ำประกัน” จะชำระหนี้แทน และเมื่อลูกหนี้เกิดไม่ชำระหนี้ขึ้นมาจริงๆ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบแทนได้ และด้วยความห่วงใยผู้ที่หลวมตัวไปค้ำประกันให้ผู้อื่น “รอบรู้กฏหมาย” วันนี้ จึงใคร่จะขอนำเสนอถึงความรู้เบื้องต้นอันจะเป็นประโยชน์สำหรับ “ผู้ค้ำประกัน” ถึงขอบเขตความรับผิดชอบ สิทธิ และการพ้นความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน
1. ขอบเขตความรับผิดชอบ ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดความรับผิดชอบของตนไว้ในสัญญาค้ำประกันได้ว่า ต้องการรับผิดชอบอะไร กรณีใด อย่างไร? หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้แค่ไหน โดยต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน อาทิ ผู้ค้ำประกันได้ระบุจำนวนไว้ว่า จะรับผิดไม่เกินจำนวนตามที่ได้ระบุไว้เท่านั้น เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็จะใช้หนี้ดังกล่าวแทนลูกหนี้เฉพาะเท่าจำนวนที่ได้ระบุไว้ หาไม่แล้ว ผู้ค้ำประกันก็จะต้องรับผิดเฉกเช่นเดียวกันกับลูกหนี้ทุกประการ
2. สิทธิของผู้ค้ำประกัน เมื่อเจ้าหนี้เรียกร้องให้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ “ผู้ค้ำประกัน” สามารถที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้ แม้เจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกันให้เป็นจำเลยร่วมกับลูกหนี้ ก็มีสิทธิพิสูจน์ต่อศาลถึงทรัพย์สินของลูกหนี้ที่สามารถชำระหนี้ได้ ศาลก็ต้องพิจารณาบังคับให้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน เนื่องจากหนี้ที่ต้องชำระหาใช่ของผู้ค้ำประกัน แต่ผู้ค้ำประกันเป็นเพียงลูกหนี้ชั้นที่สองเท่านั้น เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเซ็นสัญญาค้ำประกัน ให้พิจารณาข้อความในสัญญาให้ดี โดยเฉพาะสัญญาสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป หากมีข้อความว่า “ให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้” ซึ่งหมายถึง ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วม ขืนไปเซ็นยอมรับก็เท่ากับยอมรับผิดเช่นนั้น และไม่สามารถที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้
และในกรณีที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปแล้ว จะโดยความยินดีหรือถูกบังคับตามคำพิพากษา ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะเรียกร้องเอาเงินที่ชำระเจ้าหนี้ไปแล้วคืนจากลูกหนี้ได้ทั้งหมด รวมไปจนถึงค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากการค้ำประกัน ดังนั้นก่อนที่จะจรดปากกาเซ็นค้ำประกันให้ใคร คุณควรจะพิจารณาให้ดี ทั้งศักยภาพของตัวลูกหนี้ และข้อความในสัญญาให้รอบคอบ
3. การพ้นความผิดของผู้ค้ำประกัน โดยปกติแล้วผู้ค้ำประกันจะเป็นอิสระหรือพ้นผิดได้ก็ต่อเมื่อหนี้ของลูกหนี้ได้ชำระเสร็จสิ้นและระงับไปแล้ว แต่มีอยู่บางกรณีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดได้ คือ หากมีกำหนดวันชำระหนี้ไว้ชัดเจนแล้ว แต่เจ้าหนี้ยืดระยะเวลาให้แก่ลูกหนี้ออกไปอีก ผู้ค้ำประกันก็จะพ้นจากความรับผิดชอบ และในกรณีที่หนี้ของลูกหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว เมื่อผู้ค้ำประกันนำเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ไว้แน่นอนแล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับโดยไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมาย ผู้ค้ำประกันก็สามารถจะพ้นจากความรับผิดได้อีกเช่นกัน.