เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.6 : สิมวัดหลวง มรดกในความทรงจำ...

   เมื่อ : 06 ธ.ค. 2566

            ความสำคัญ : ภาพถ่ายวิหารของวัดหลวง ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าของเมืองอุบล เป็นวิหารที่สวยสง่างามแห่งหนึ่ง เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สร้างเลียนแบบวิหารของวัดเชียงทอง ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2324 ถูกรื้อ พ.ศ.2492 เหลือไว้ในความทรงจำตลอดไป…

            ประวัติและความเป็นมา : วัดหลวง สร้างโดยเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล ภายหลังจากที่ได้อพยพมาจากดอนมดแดงมาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง และได้ตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้น จากนั้นจึงได้ให้พระสงฆ์ที่อพยพมาด้วย ลงมือก่อสร้าง โดยให้ช่างที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ พร้อมด้วยท่านอุปฮาดราชบุตรราชวงศ์ ท่านท้าวเพี้ย กรรมการน้อยใหญ่ ร่วมสร้างหอไตร เจดีย์ธาตุ ศาลาการเปรียญ สิม หอกลอง หอระฆัง กุฏิสงฆ์ หอปราสาทธรรมาสน์ แต่ปัจจุบันถูกรื้อถอนออกหมดแล้วด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมสร้างพระประธานนามว่า พระเจ้าใหญ่วัดหลวง และตั้งชื่อวัดว่า ”วัดหลวง” ถือเป็นอารามแรกในเมืองอุบลราชธานี จากข้อมูลของกรมการศาสนาระบุว่า ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2334 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2530

            หลังจากสร้างวัดหลวงแล้วเสร็จ ผ่านมาจนถึงปี พ.ศ.2454 สิ่งก่อสร้างศาสนาคารต่างๆ ของวัดซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้เริ่มชำรุดทรุดโทรม วัดหลวงจึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ซ่อมสิ่งก่อสร้างครั้งใหญ่ที่มีอยู่ในวัด เช่น วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ หอไตร หอกลอง หอโปง หอระฆัง เป็นต้น

            จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 วิหารของวัดหลวงได้เกิดการชำรุดและผุพังอย่างมาก ทางวัดจึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยได้ทำการรื้อวิหารหลังเดิมออกแล้วสร้างเป็นหอแจกหลังปัจจุบันแทนที่ ก่อนรื้อถอนได้มีการถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ปัจจุบันจึงมีแค่ภาพถ่ายนั้นที่เหลือไว้ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้

            พระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่องค์หลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2324 และมีพระแก้วไพฑูรย์ ปางสมาธิ สร้างจากหินใสธรรมชาติที่มีอายุหลายร้อยปี พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนทับกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางลงบนพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม และยังมี หลวงพ่อปากดำ หรือ พระเจ้าใหญ่ปากดำ เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน.

                                                              …………

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

       มรดกล้ำค่าในความทรงจำ