Update รายงานสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566

   เมื่อ : 23 ต.ค. 2566

            จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกถึงตกหนักในบางพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำเอ่อลันตลิ่งไหลเข้าท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน จำนวน 12 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน ตาลสุม เดชอุดม สว่างวีระวงศ์ พิบูลมังสาหาร และอำเภอสิรินธร จำนวน 77 ตำบล 528 หมู่บ้าน/ชุมชน 16 163 ครัวเรือน ถนน 36 สาย สะพาน 5 แห่ง ฝ่าย 2 แห่ง วัด 2 แห่ง ศูนย์พักพิงชั่วคราว 25 จุด แยกเป็น

ด้านการดำรงชีพ ได้รับลกระทบตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2566 จำนวน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 10 ตำบล 49 ชุมชน/หมู่บ้าน 2093 ครัวเรือน 6720 คน ราษฎรอพยพ 7 ตำบล 29 ชุมชน 545 ครัวเรือน 1820 คน แยกเป็น ศูนย์พักพิงชั่วคราว 25 จุด 476 ครัวเรือน 1653 คน พักบ้านญาติ 69 ครัวเรือน 167 คน อพยพกลับแล้ว16 ครัวเรือน 71 คน คงเหลือ 529 ครัวเรือน 1749 คน (วันนี้ลดลง - ครัวเรือน - คน) ศูนย์พักพิงชั่วคราว 23 จุด

เสียชีวิต 1 ราย คือ นายวิถี คำแดง อายุ 45 ปี ที่อยู่ 31/4 ชุมชนหาดสวนสุข 1 ถนนวิบูลธรรม ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 08.00 น

            ด้านการเกษตร ด้านพืช ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 จำนวน 12 อำเภอ ได้แก่อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน ตาลสุม เดชอุดม สว่างวีระวงศ์ พิบูลมังสาหาร และอำเภอสิรินธร จำนวน 75 ตำบล 479 หมู่บ้าน 14070 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 99329.75 ไร่

            ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2566 จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ ตระการพืชผล และอำเภอม่วงสามสิบ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน 254 ครัวเรือน สัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 12049 ตัว อพยพสัตว์ 7058 ตัว แปลงหญ้าได้รับความเสียหาย 79 ไร่ จุดอพยพสัตว์ 2 จุด ได้ บ้านทัพไทย หมู่ที่ 7 ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี และบ้านกุดระงุม หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 11 ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ

            การประกาศพื้นที่

จังหวัดอุบลราชธานี ได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว จำนวน 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ตาลสุม เดชอุดม ดอนมดแดง และอำเภอเขื่องใน

การให้ความช่วยเหลือ

            1) อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจิตอาสาและอาสาสมัคร อปพร. ได้เข้าให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

2) จังหวัดอุบลราชธานี โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ระดมความช่วยเหลือจากส่วนราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน มูลนิธิการกุศล พร้อม จิตอาสา ออกให้การช่วยเหลือประชาชน นำกำลังอพยพเคลื่อนย้ายและจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดตั้งเต็นท์มูลนิธิราชประนุเคราะห์ในพระบรมราชปถัมภ์ จำนวน 35 หลัง เต็นท์ 280 หลัง ถังน้ำ 85 ถัง ตู้สุขา 70 ตู้ รถสุขา 1 คัน รถเคลื่อนย้าย 6 คัน เครื่องสูบน้ำ จำนวน 23 เครื่อง รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน พร้อมมอบสิ่งของ เครื่องใช้ และน้ำดื่ม

3) จัดตั้งโรงครัวกลางอาสา ของเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติอุบลราชธานี (อช.ปภ.) ณ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ

4) ติดตั้งเครื่องสูบน้ำท่วมชัง (ภาวะฝนตกหนัก) จำนวน 2 จุด จำนวน 6 เครื่อง รื้อถอนการติดตั้งแล้ว 4 เครื่อง คงเหลือ 2 เครื่อง ดังนี้

            - ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ ติดตั้งวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 จำนวน 1 เครื่อง เทศบาล

ตำบลแสนสุข เครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง

            - ตำบลโพนงาม อำเภอเดชอุดม ศูนย์ ปภ. เขต 13 อุบลราชธานี เครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง

5) ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนลุ่มต่ำ และเร่งสูบส่งน้ำเพิ่มการระบายน้ำแม่น้ำมูลจากพื้นที่ รวม จำนวน 4 จุด จำนวน 17 เครื่อง รวมปริมาณสูบน้ำสะสมทั้ง 4 จุด จำนวน 4346600 ลบ.ม. รื้อถอนเครื่อง ทั้ง 4 จุดแล้ว

6) ศูนย์ ปภ. เขต 13 อุบลราชธานี สนับสนุนรถผลิตน้ำดื่มให้กับศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้บริการน้ำดื่มให้ประชาชนผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย ชุมชนท่ากอไผ่ เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 และจนกว่าสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ

7) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย ผศ.จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย โดยจุดแรก ณ โรงครัวกลางอาสาฯ ศูนย์พักพิงชั่วคาวโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ อำเภอวารินชำราบ มอบวัตถุดิบในการประกอบอาหาร จุดที่ 2 จุดวางกระสอบทรายและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ประตูระบายน้ำท่ากอไผ่ มอบเครื่องดื่มให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานสูบน้ำ จุดที่ 3มอบถุงยังชีพ ชุมชนวัดกุดคูณ จำนวน 27 ครัวเรือน พร้อมถวายสิ่งของให้พระภิกษุสงฆ์วัดกุดคูณ และจุดที่ 4 มอบถุงยังชีพศูนย์พักพิงชั่วคราวซอยติ่งปลาเผา 20 ครัวเรือน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน อาทิ ธนาคารออมสิน ร่วมลงพื้นที่และมอบสิ่งของแก่ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ.