จ.อุบลฯ ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมภาคีเครือข่ายจัดงาน “เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน ม่วนนำกัน @นาด็อกเตอร์”

   เมื่อ : 18 พ.ย. 2566

            ที่ ศูนย์เครือข่าย ศพก. อำเภอกุดข้าวปุ้น บ้านฟ้าห่วน หมู่ที่ 4 ตำบลแก่งเค็ง อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมอบหมายให้ นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร กับหัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร ชาวบ้าน อย่าง เป็นกันเอง “เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน ม่วนนำกัน @นาด็อกเตอร์” 

          สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ได้จัดงาน “เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน ม่วนนำกัน @นาด็อกเตอร์” ขึ้น ร่วมด้วย นายประวีณ เขียวขำ ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ,นายอำเภอ ,หัวหน้าส่วนราชการ ,ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรอำเภอ ,เกษตรกร ,ประชาชน ร่วมในพิธี มอบสารชีวภัณฑ์ ,เมล็ดพันธ์พืชปุ๋ยสด ,มอบรางวัลการประกวด คลิป ประชาสัมพันธ์นาด็อกเตอร์ ,เยี่ยมชมตลาดเกษตรกร สินค้า โอทอปชุมชน ,นิทรรศการฯ ,เทคโนโลยีการเกษตรยุคใหม่ และ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว และ กิจกรรม ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร กับหัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร ชาวบ้าน อย่าง สนุกสนาน และเป็นกันเอง 

            สำหรับกิจกรรม ลงแขกเกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน ม่วนนำกัน @นาด็อกเตอร์ ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าวและวิถีชีวิตชาวนาไทย ,ส่งเสริม สนับสนุน ประชาสัมพันธ์ให้มีการทำนาอินทรีย์แบบประณีตอย่างแพร่หลาย ตลอดจนสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน ให้มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

            ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี การเพาะปลูกข้าวส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ค่าแรงงาน แต่ในด้านปริมาณและราคาผลผลิตที่จำหน่ายได้ ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่คุ้มทุน ในพื้นที่อำเภอกุดข้าวปุ้น มีเกษตรกรที่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้รวมกลุ่มกันทดลองทำนาอินทรีย์แบบประณีต หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “นาด็อกเตอร์” เน้นหลักการ ทำน้อยได้มาก 

          ทั้งนี้ เริ่มทำนาด๊อกเตอร์เมื่อปี พ.ศ.2565 โดยทดลองดำกล้าต้นเดียวเป็นกลุ่มๆ ละ 5 ต้น ระยะ 40 x 50 เซนติเมตร ในพื้นที่คนละ 1 ไร่ พบว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 1,400 บาทต่อไร่ เพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อไร่  ทำให้กลุ่มมีความมั่นใจว่า มาถูกทางแล้ว ซึ่งต้นทุนการผลิตที่ลดลง ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้เกษตรกร การทำนาอินทรีย์จะทำให้ผู้ผลิต ผู้บริโภคปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่นาแห่งนี้ได้จัดกิจกรรมลงแขกดำนาด้วยวิธีดังกล่าวอีกครั้ง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตในวันนี้จะเป็นการยืนยันข้อมูลต้นทุนการผลิตและผลผลิตของนาด๊อกเตอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ปัจจุบัน กลุ่มนาด๊อกเตอร์มีสมาชิกทั้งหมด 19 ราย โดยมีการดำเนินงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ อีกด้วย.