ประธาน ค.ร.อ.ท.เข้าพบเจ้าของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ชี้เหตุควรมีเรื่องการอาชีวศึกษาใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่

   เมื่อ : 15 ธ.ค. 2567

            12 ธันวาคม 2567 นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) พร้อมทีมงานได้เข้าพบ ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ ส.ส.เขต 5 จ.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เจ้าของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ...ที่จะนำเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้ ณ ตึกรัฐสภา เพื่อชี้แจงเหตุผลความสำคัญทำไมต้องมีการบัญญัติกฎหมายให้มีมาตราใดมาตราหนึ่งระบุเรื่องการศึกษา “ระดับอาชีวศึกษา” ใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษามีความเข้มแข็ง และมีความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษาด้านวิชาชีพเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และตรงความต้องการของสถานประกอบการ จึงต้องกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ให้ชัดเจน พร้อมกับชี้แจงเหตุผลถึงความจำเป็นที่อาชีวศึกษาควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนากำลังคนของประเทศให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก

            ประธาน ค.ร.อ.ท. ได้ชี้แจงถึงเหตุผลการเข้าพบ ส.ส.ดร.เทิดชาติ ชัยพงษ์ ในครั้งนี้ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยได้มอบให้เป็นผู้ยื่นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ...ที่จะนำเข้าเสนอในสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนี้โดยมี ส.ส.ดร.อภิชาติ ตีรสวัสดิชัย ส.ส.เขต 1 จ.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรับฟังด้วย

            ประธาน ค.ร.อ.ท.ได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่ พ.ร.บการศึกษาต้องมีการระบุการจัดการอาชีวศึกษาที่เป็นเอกภาพ นั่นคือ ปวช. ปวส. และ ป.ตรี บริหารภายใต้ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ทั้งนี้เพราะการศึกษาอาชีวศึกษานั้นเป็นการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะวิชาชีพที่หลากหลายสาขา เพื่อนำวิชาชีพประกอบอาชีพอิสระหรือเข้าทำงานสู่สถานประกอบการ จึงต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเข้าใจว่าเมื่อส่งบุตรหลานเข้าเรียนอาชีวะแล้วจะต้องมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและขณะเดียวกันเรื่องของการจัดการศึกษาแบบเทียบโอนประสบการณ์หรือสะสมหน่วยกิตนั้น มีความจำเป็นกับผู้เรียนหรือผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการเมื่อมีโอกาสต้องได้รับวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้น และจะต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้านอาชีวะด้วยทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนได้เข้าร่วมขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาเพื่อสร้างคนให้มีอาชีพและเป็นกำลังหลักของการพัฒนาประเทศโดยรวมถึงการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาครูผู้สอนและนำเสนอถึงประเด็นการจัดการศึกษาของประเทศควรจะมีอยู่ 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐานเป็นการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษาเป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้ผลิตบุคคลมีทักษะด้านวิชาชีพและวิชาการเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพอิสระและเข้าทำงานตรงกับความต้องการสถานประกอบการ โดยจัดการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี และระดับอุดมศึกษาเป็นการจัดการศึกษาต่อจากการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เน้นด้านวิชาการรับผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

            ประธาน ค.ร.อ ท.ได้กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายถึงการศึกษาของอาชีวศึกษาเป็นการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบและตามอัธยาศัย โดยผสมผสานร่วมกันทุกภาคส่วนจึงสามารถที่จะสร้างและผลิตคนที่มีความรู้มีทักษะด้านวิชาชีพสนองความต้องการการพัฒนาของประเทศได้อย่างแท้จริง และขอขอบคุณ ส.ส.ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ และท่าน ส.ส.ดร.อภิชาติ ตีรสวัสดิชัย ที่ให้โอกาสและรับฟังการชี้แจงเหตุผลถึงการให้ความสำคัญด้านการอาชีวศึกษาและรับปากจะสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาอย่างเต็มที่ และจะนำเข้าไปเสนอต่อกรรมาธิการฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป