เล่าเรื่อง เมืองอุบล : ประวัติ บ้านไพรีพินาศ


ความสำคัญ : และความเป็นมาของคำว่า “ไพรีพินาศ” หลายท่านอาจนึกถึง พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับถวายมาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
คำว่า “ไพรีพินาศ” ยังใช้เป็นชื่อป้อมที่แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2377 และยัง ปรากฏมีการใช้เป็นราชทินนามข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ความตอนหนึ่งว่า
”นายร้อยตำรวจเอก ขุนไพรีพินาศ (ผิว วุฒิวัณณ) เป็นหลวงไพรีพินาศ มีตำแหน่ง ราชการในกรมตำรวจภูธร ถือศักดินา 600…..”
จนในปี พ.ศ.2484 ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม บัญญัติกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ จึงได้มีข้าราชการบางส่วนเปลี่ยนนามสกุล ตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิม จึงปรากฏมีนามสกุล ”ไพรีพินาศ” ในปัจจุบัน
สำหรับประวัติ บ้านไพรีพินาศ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ขอนำเรียนโดยย่อ ดังนี้
เจ้าของบ้านคือ ร้อยตำรวจเอก หลวงไพรีพินาศ สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2478 นับถึงปัจจุบัน พ.ศ 2568 มีอายุราว 90 ปี สร้างขึ้นทางทิศตะวันตกจุดสิ้นสุดของถนนเขื่อนธานี บ้านเลขที่ 184 (ปัจจุบัน เลขที่ 322) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บนเนื้อที่ 1 ไร่ครึ่ง ประกอบด้วยเรือนไม้ 2 หลัง หลังใหญ่ลักษณะเป็นบ้านสองชั้นยกพื้น ทรงปั้นหยา หลังคามุงด้วยกระเบื้องรูปว่าวที่สั่งมาจากจังหวัดจันทบุรี

ตัวบ้านเนื้อที่ 108 ตารางเมตร หลังเล็ก เนื้อที่ 64 ตารางเมตร ทำจากไม้ตะเคียนทั้งสองหลัง ตรงกลางระหว่าง สองหลังมีหลังคาทรงจั่วคว่ำเชื่อมสองหลังเข้าด้วยกัน
หลังใหญ่ เจ้าของบ้านใช้อยู่อาศัย ชั้นบนมี 3 ห้องนอน และห้องโถง ชั้นล่าง มี 1 ห้องนอนและห้องโถง ในส่วนห้องโถงชั้นล่างนี้ด้านติดถนนมีประตูบานเฟียมเปิดได้รอบ 2 ด้าน
หลังเล็ก มี 2 ห้อง ใช้ประกอบอาหาร หนึ่งห้อง และเป็นห้องพักของแม่ครัว-แม่บ้านอีกหนึ่งห้อง
ต่อมาปี พ.ศ. 2511 บ้านหลังนี้ได้ตกทอดเป็นมรดกมายังบุตรชายคนเล็กของท่านคือ พันเอก (พิเศษ) ไพบูลย์ ไพรีพินาศ ซึ่งต่อมาได้เสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ. 2556 บ้านหลังนี้จึงอยู่ในการดูแลของภรรยา คือ นางสอาด ไพรีพินาศ ถึงปัจจุบันยังใช้อยู่อาศัยได้ และมีการซ่อมแซมบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ยังทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ประวัติ “ร้อยตำรวจเอก หลวงไพรีพินาศ” (ต้นตระกูลไพรีพินาศ) โดยย่อ
เดิมท่านชื่อ ผิว วุฒวัณณ เกิดเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2426 ที่บ้านโนนโหนน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สมรสกับนางบุญอ้อม มีบุตรธิดา 13 คน ท่านรับราชการตำรวจ ลักษณะเด่นท่านเป็นผู้มีร่างกายกำยำ แข็งแรง และมีวิชาอาคม ใช้ดาบและปืนยาวเป็นอาวุธ เดินทางด้วยม้าและเกวียน ได้รับคำสั่งให้ไปตามหัวเมืองต่างๆ สามารถปราบโจรผู้ร้ายที่มีฤทธิ์ได้อย่างราบคาบจำนวนมาก ได้รับแต่งตั้งพระราชทานยศ นายร้อยตำรวจตรี และได้ย้ายไปรับตำแหน่งสำคัญๆ อีกหลายจังหวัด อาทิ เป็นผู้บังคับกองตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น คนแรก (พ.ศ.2459 ที่มา : กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น), จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดอุบลราชธานี
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2466 สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ นายร้อยตำรวจเอก ผิว วุฒวัณณ เป็น ”ขุนไพรีพินาศ” มีตำแหน่งราชการกรมตำรวจภูธร ถือศักดินา 400..., ในเวลาต่อมา มีปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ในรัชกาลที่ 7 ความตอนหนึ่งว่า “....นายร้อยตำรวจเอก ขุนไพรีพินาศ (ผิว วุฒวัณณ) เป็น “หลวงไพรีพินาศ” มีตำแหน่งราชการในกรมตำรวจภูธร ถือศักดินา 600...”
ปี พ.ศ. 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้บัญญัติกฎหมายยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านจึงนำบรรดาศักดิ์มาเป็นนามสกุล ดังปรากฏนามสกุล “ไพรีพินาศ” ในปัจจุบัน
ท่านได้ถึงแก่มรณกรรมด้วยโรคมะเร็งลำคอ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2493 สิริ อายุได้ 67 ปี
ที่สำคัญ ในปี พ.ศ.2516 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เสด็จออกมาจากกุฏิไพรี พินาศ วัดสุปัฏนาราม วรวิหารจ.อุบลราชธานี เมื่อครั้งเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
…..
ข้อมูล : เพจ : เล่าเรื่อง วัดบวรฯ
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
16 พฤษภาคม 2568