เปิด 4 มุมมองนักคิด นักปฏิบัติ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ หาทางออกกับสถานการณ์สังคมสูงวัย ทุกมิติ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานการประชุมกล่าวเปิดว่า มุมมองของคนไทยต่อ ”สังคมสูงวัย” ยังค่อนข้างแคบ หลายคนยังมองว่าสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของ ”ผู้สูงอายุ” เท่านั้น โดยเน้นไปที่ความจำเป็นในการดูแลสุขภาพ หรือการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัย แต่ในความเป็นจริง สังคมสูงวัยคือเรื่องของ ”ทุกคน” และทุกช่วงวัยในสังคม พร้อมเสนอข้อคิดมุมมองเพื่อการเตรียมรับมือสังคมสูงวัยไว้ 5 ประการ คือ
(1) รณรงค์สร้างความรู้ ว่าผู้สูงอายุ คือพลัง ไม่ใช่ภาระ ผู้สูงวัยมีศักยภาพที่จะเป็น “ครูชีวิต” ที่ดีได้ การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่จำกัดเฉพาะช่วงวัยใดวัยหนึ่ง แต่เป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงรอบตัว
(2) ให้มีกลไกสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ให้เข้ามาขับเคลื่อนงานในลักษณะการนำหมู่ (Collective Leaderships)
(3) ปรับสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงพื้นที่และกลไกให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้ร่วมกันของผู้สูงอายุและคนทุกวัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย
(4) ใช้วัฒนธรรม “สังคมเกื้อกูล” เป็นธงนำ ใช้รูปแบบวัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และ
(5) ขยายผลนวัตกรรมและรูปธรรมความสำเร็จไปสู่วงกว้าง อย่างการปรับตัวของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน
“การที่ 12 องค์กรร่วมกันสานพลังทำงานนี้บนแนวคิด “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน เป็นการเดินในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม และมองว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุข สังคมที่เกื้อกูลกัน สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพของตนเอง และส่งเสริมการใช้ศักยภาพของผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด” นายแพทย์วิจารณ์ กล่าว
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าการขับเคลื่อนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เป็นภารกิจใหญ่และสำคัญ มีทั้งโอกาสและความท้าทายมากมาย ไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังโดยกลไกภาครัฐเท่านั้น จำเป็นต้องมีการสานพลังทั้งสังคม เพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเกิด “ความรับผิดชอบร่วมและการขับเคลื่อน ซึ่งการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสานพลังองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย พัฒนาวิชาการและองค์ความรู้จากประสบการณ์ขององค์กรภาคีเครือข่าย และสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายนำไปสู่ขับเคลื่อนรองรับสังคมสูงวัยทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สังคมสูงวัย…จุดเปลี่ยนสู่ศักยภาพใหม่ของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า” โดยกล่าวว่า หากปล่อยปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยไปไม่มีการดำเนินการใดๆ และยังคงให้มีปัญหาผลกระทบในอีกสิบปีข้างหน้าจะหนักขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดใหม่และความพร้อมของครอบครัวที่มีคุณภาพก็ลดน้อยลง ผู้สูงวัยไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้จึงเป็นภาระของวัยคนทำงาน ไม่มีเงินออม คนจน ความเหลื่อมล้ำ อาชญากรรมจะมีมากขึ้น รัฐเก็บภาษีอากรได้น้อยลงเพราะคนทำงานมีน้อยลง ขณะที่หนี้สาธารณะมีมากขึ้น สวัสดิการมีไม่เพียงพอ ยังไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีได้แม้มีหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุแต่ก็ไม่อาจฝากชีวิตได้ มองว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหาเดี๋ยวนี้ ช่วยกันปลุกเตือนให้ทุกคนได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการสานพลัง มีระบบช่วยดูแลผู้สูงอายุ มีการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เอื้อกับผู้สูงวัย รัฐบาลส่วนกลางต้องรับผิดชอบและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ คิดและทำให้ประชากรแก่ให้ช้า โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและมีสุขภาพดียาวนานที่สุด ให้ระยะเวลาเจ็บป่วยเกิดสั้นที่สุด พึ่งพาตัวเองให้ยาวที่สุด เสริมทัศนคติให้ระยะเวลาทำงานยาวขึ้น ออมตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพราะออมเมื่อสูงอายุแล้วจะไม่ทัน
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตสมาชิกวุฒิสภา ปาฐกถาก่อนปิดการประชุมในหัวข้อ “ต่อยอดจุดแข็งประเทศไทย ไปสู่ Smart Aging Society” กล่าวว่า สถานการณ์โครงสร้างประชากรทั่วโลกที่ลดน้อยลง ฐานปิรามิดประชากรใน 100 ปีข้างหน้า จะผอมลงมาก และสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้คนไม่กล้ามีลูก ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีเสถียรภาพ จึงไม่มีสมาธิที่จะเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่ลดน้อยลง สภาพโลกร้อนขึ้นไม่หยุด รวมถึงนโยบายเลือกเฟ้นคนเข้าเมือง นโยบายถิ่นที่อยู่ นโยบายสัญชาติ ที่น่าจะสามารถเลือกสรรคนมีความสามารถจากทั่วโลกมาร่วมพัฒนาบ้านเมือง เพราะเราไม่มีทางผลิตประชากรเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันในเวลาอันใกล้นี้
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมการบริหารโครงการสานพลังพัฒนาโยบายรองรับสังคมสูงวัย เพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวปิดเวทีว่า การขับเคลื่อนสังคมสูงวัยต้องมีการปรับความคิดว่าไม่ใช่เรื่องผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องช่วยกันขยับทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อสร้างสังคมที่ Smart และเชื่อมั่นว่าทำได้ เวทีที่จัดขึ้นเป็นเพียง 1 กิจกรรมในความพยายามที่ต้องทำต่อเนื่อง เหมือนการวิ่งมาราธอน เพื่อร่วมกันสร้างความรู้และปัญญาจากงานที่จัด โดยจะมีการสรุปประมวลเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ข้อเสนอไปสู่การพัฒนาปฏิบัติ บางเรื่องอาจต้องมีการศึกษาวิจัยต่อจากเวทีในครั้งนี้ มีหลายหน่วยงานที่มาได้รู้จักว่ากลุ่มไหน ทำอะไร ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว ยังประสานทำงานร่วมกันต่อไปอีกด้วย
การประชุมวิชาการ (Mini-symposium) สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together, We can) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) และองค์กรเจ้าภาพอีก 10 องค์กร ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2567 มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ พบว่าเรื่อง “สังคมสูงวัย” ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง มีเพียงการดูแลสวัสดิการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ และคาดว่าจะผลิตแรงงานไม่ทันกับความต้องการ ระบบโครงสร้างยังไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เด็กเกิดน้อย แรงงานลดลง พร้อมนำเสนอ 14 กรณีตัวอย่างขับเคลื่อนสังคมสูงวัยแลกเปลี่ยนประสบการณ์