รายงานพิเศษ : สนามบิน “เลิงนกทา” สร้างยุคสงครามเวียดนาม
สนามบินในประเทศไทย ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักสนามบินหลักๆ ของประเทศ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินอุบลราชธานี แต่น้อยคนจะทราบว่าที่ ตำบลโคกสำราญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มีสนามบินซ่อนตัวอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507
โดยวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นสนามบินสำรองให้เครื่องบินของสหรัฐอเมริกาลงจอดฉุกเฉินยามเครื่องบินมีปัญหาขัดข้อง และใช้ประโยชน์ในการลำเลียงยุทธภัณฑ์ในสงครามเวียดนาม และเพื่อความมั่นคงคงรัฐไทย ด้วยการแย่งชิงมวลชน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดรอยต่อสามจังหวัด ( ยโสธร สกลนคร อุบล ) ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง มีการเคลื่อนไหวของทหารปลดแอกฯ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้มาขยายงานมวลชน โดยยึดเอาหมู่บ้านสองข้างทางสายชยางกูร นับจากบ้านนาไร่ใหญ่ เขตอำนาจเจริญ ขึ้นไปทางเขตเลิงนกทา
ดำเนินการสร้างในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลอังกฤษใด้เสนอที่จะสร้างสนามบินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือปรับปรุงสิ่งอํานวยความสะดวกในการส่งกําลังบํารุงในพื้นที่ที่มีความสําคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ให้กับรัฐบาลไทย สนามบินแห่งนี้จะอํานวยความสะดวกแก่เครื่องบินลําเลียงที่มีรัศมีการบินปานกลางทั้งของทหารและพลเรือน รัฐบาลไทยได้ตกลงรับข้อเสนอในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2506 ชุดวางแผนชุดแรก ซึ่งมี พ.ท.อาร์.อี.ยัง. เป็นหัวหน้า ได้เดินทางจากประเทศอังกฤษมายัง อ.มุกดาหาร เพื่อสํารวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างสนามบิน ในที่สุดได้เลือกบริเวณใกล้กับบ้านโคกตลาด (บ้านโคกสําราญในป้จจุบัน) อําเภอเลิงนกทา เป็นบริเวณที่จะทําการก่อสร้าง ทั้งนี้โดยได้พิจารณาเห็นว่าเป็นบริเวณที่จะให้ความปลอดภัยสําหรับการปฏิบัติการบินของเครื่องบิน มีความเหมาะสมและสะดวกแก่หน่วยทหารช่างของกองทัพอังกฤษที่จะดําเนินการก่อสร้าง และอยู่ใกล้ทางหลวงสายอุบลราชธานี – มุกดาหาร รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบ และตกลงให้ใช้บริเวณที่เลือกนี้เป็นที่ก่อสร้างสนามบิน และได้จัดซื้อที่ดินแปลงนั้นในทันที
หลังจากได้ทําการสํารวจพื้นที่แล้ว เจ้าหน้าที่ทางลอนดอนและสิงคโปร์ก็ได้ดําเนินการวางแผนการก่อสร้าง และได้จัดส่งหน่วยทหารช่างกองทัพอังกฤษออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หน่วยแรกในบังคับบัญชาของ พ.ท.เอช.เอน แมคอินไทร์ จากสิงคโปร์เดินทางมายังประเทศไทยในเดือน ธันวาคม 2506 เพื่อเริ่มดําเนินการตามโครงการ
โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งนี้ เรียกชื่อว่า “Operation Crown” และหน่วยทหารช่างที่ดําเนินการตามโครงการนี้เรียกว่า “CRE (Works) Crown” มีเครื่องหมายมงกุฎไทยเป็นสัญลักษณ์ประจําหน่วย
ในวันที่ 3 เมษายน 2507 ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยี่ยม และทําพิธีเปิดการก่อสร้างสนามบิน
ความรู้เทคนิคการก่อสร้างแบบใหม่ที่ไทยได้รับการถ่ายทอด เนื่องจากในบริเวณนั้นไม่สามารถจะหาหินสําหรับผสมคอนกรีต หรือ แอสฟัลท์สําหรับการปูพื้นสนามบินได้ จึงได้ใช้วิธีปูพื้นด้วยการอัดดินผสมซีเมนต์และปูนขาว (Soil, cement and lime Stabilisation) และปูทับพื้นลานบินด้วยหินแกรนิตบิทูมินัส ( bituminous macadam ) การสร้างสนามบินแห่งนี้นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้ใช้วีธีการอัดดินผสมซีเมนต์และปูนขาว หน่วยทหารช่างของไทยตลอดจนนายช่างของกรมทางหลวงและบริษัทปูนซีเมนต์ ได้มีความสนใจและมาศึกษาดูงาน วิธีนี้เป็นการก่อสร้างที่ประหยัด สามารถนำมาต่อยอดในการสร้างถนนในภาคอีสานในอนาคต
สนามบินเลิงนกทา สร้างโดยทหารสหรัฐอเมริการ่วมกับพันธมิตรอังกฤษ, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในสมัยสงครามเวียดนาม เริ่มก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2506 - 2508 ใช้เวลา 3 ปี ดำเนินการแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2508 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีเดิมชื่อสนาม Crown Airfield รันเวย์เป็นพื้นคอนกรีตยาว 1,530 เมตร มีหัวท้ายเป็นแอสฟัลต์ด้านละ 150 เมตร ความกว้างของรันเวย์ 40 เมตร ว่ากันว่า สมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐได้สร้างสนามบินสำรองเอาไว้หลายแห่ง ทั้งในไทยและลาว เพื่อให้เครื่องบินที่ถูกยิงขัดข้อง ได้ลงจอดในสนามบินที่ใกล้ที่สุด และใช้ประโยชน์ในการลำเลียงยุทธภัณฑ์สงคราม
นอกจากนี้หน่วยทหารช่างกองทัพอังกฤษ ยังได้ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ด้วยการก่อสร้างถนน โรงเรียน และสาธารณูปโภค ต่างๆ และจัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพประชาชน และสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในพื้นที่อีกด้วย
ขอย้อนถึงประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2488 มีเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรถูกทหารญี่ปุ่นนำมาควบคุมและสร้างสนามบิน (บ้านหนองไผ่) ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสงครามโลกยุติ มีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่อุบลราชธานี คือ อนุสาวรีย์แห่งความดี และในลำดับต่อมาในปี 2506 สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพที่อุบลราชธานี ในช่วงสงครามเวียดนาม และมีเหล่าทหารจากอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และพันธมิตรมาช่วยสนับสนุน และสร้างสนามเลิงนกทา ปี 2505 - 2508 โดยมีทหารชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นทายาทเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ร่วมดำเนินการสร้างด้วย ซึ่งต่อมามีชื่อกลุ่มว่า Operation Crown Association.
ต่อมาในปี 2550 ชาวต่างประเทศประกอบด้วย อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และ อเมริกัน ซึ่งเป็นทายาทเชลยศึก คือ นายทอม (Mr.Tomas Raymond Porter) และสมาชิกที่เคยร่วมสร้างสนามบินเลิกนกทา ได้มาจัดพิธีรำลึก ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี อุบลราชธานี คือ นายไมค์(Mr.Micheal Robert Chapman) เป็นทีมงานและผู้แทนชาวต่างประเทศ ในการจัดงานวันรำลึกแห่งความดีจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันจุดประกาย วันที่ 11/11/2550
สำหรับประวัติของไมค์ ขณะที่พักอาศัยอยู่ในอุบลราชธานี ยังทำหน้าที่ประสานกับ เครือข่ายทหารช่างชาวต่างประเทศที่เคยสร้างสนามบินเลิงนกทา ให้มาร่วมงานวันรำลึกแห่งความดี ซึ่งเดินทางจากอังกฤษ ออสเตเลีย และแคนาดา และเป็นหัวหน้าคณะในการกล่าวรำลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ต่อเนื่องหลายปี และในปี 2564 ได้มอบหมายให้ Mr. Noel David Anderson เป็นผู้ดำเนินการแทน เนื่องจากสุขภาพไม่ดี
และในที่สุดไมค์ ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 และครอบครัวเพื่อนๆ จัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลศพที่วัดผาสุกการาม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566
Mr.Michael Robert Chapman ไมค์ เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2498 ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 อายุ 67 ปี ในการจากไปของไมค์ ทางมูลนิธิเจ้าคำผงและคณะทำงานได้ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตามประเพณีไทยด้วยความเรียบร้อยทุกประการ
* ขอขอบคุณ : ภาพจาก โครงการ Operation Crown และทหารหน่วย CRE (Works) และงานวันรำลึกแห่งความดี
……….
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
25 ตุลาคม 2567