สช. กำชับ 6 แนวทางการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ
จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นเหตุทำให้นักเรียน และครูเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ด้านความปลอดภัยของนักเรียนและครู
สช. ออกหนังสือซักซ้อม แจ้ง 6 แนวทางการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้แจ้งซักซ้อมแนวทางการพานักเรียนไปทัศนศึกษา ขอให้โรงเรียนพิจารณางดการพานักเรียนไปทัศนศึกษา ยกเว้นมีเหตุจำเป็น ขอให้โรงเรียนดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2562 ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2562 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 28 เมษายน 2563 อย่างเคร่งครัด และพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
ตรวจสอบสภาพรถหรือยานพาหนะและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี และพร้อมที่จะใช้การได้อย่างปลอดภัย ประสานกรมการขนส่งทางบกให้ตรวจสภาพรถ ยางรถ อุปกรณ์ต่างๆ ก่อนออกเดินทาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
การพานักเรียนระดับต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไปนอกสถานศึกษา และการทัศนศึกษาควรมีผู้ปกครองร่วมเดินทางไปด้วย กำหนดระยะเวลาและระยะทาง โดยพิจารณาสถานที่ใกล้โรงเรียนหรือภายในจังหวัดเป็นลำดับแรก จัดทำประกันภัยการเดินทางให้แก่นักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้อง จัดให้มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุให้กับครูและนักเรียน ให้โรงเรียนรายงานการพิจารณาอนุญาตต่อผู้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ตามแบบที่กำหนดในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ ก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
สพฐ. กำหนด 16 แนวทางปฏิบัติพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพานักเรียนไปนอกสถานศึกษาของโรงเรียนในสังกัด ดังนี้
การพานักเรียนไปนอกสถานศึกษา ให้พิจารณาถึงความพร้อมและความสามารถในการดูแลตนเอง ขั้นพื้นฐานของนักเรียน แบ่งเป็น
- ระดับปฐมวัย ต้องให้มีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย และห้ามพานักเรียนออกนอกสถานศึกษาคละกับนักเรียนช่วงชั้นอื่น ให้เลือกสถานที่จัดประสบการณ์เรียนรู้ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษาที่ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
- ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 ควรมีผู้ปกครองอาสาร่วมคณะไปด้วย และให้เลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ทัศนศึกษา/แหล่งเรียนรู้ ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา
- ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ให้เลือกสถานที่ดำเนินกิจกรรม/ทัศนศึกษา/แหล่งเรียนรู้ ในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของ นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ
ตรวจสอบสภาพรถยนต์โดยสารก่อนเดินทาง ให้มีความปลอดภัยครบถ้วน เอกสารใบรับรองการตรวจสอบสภาพรถจากกรมขนส่งทางบก ไม่เกิน 30 วัน
ห้ามใช้รถยนต์ที่ติดตั้งระบบจ่ายพลังงานเชื้อเพลิงด้วยแก๊ส รถยนต์โดยสารต้องมีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่น มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ครบถ้วน และมีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุ ดำเนินการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุก่อนออกเดินทาง
สถานศึกษาต้องจัดทำสัญญาเช่า กำหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับสภาพรถและพนักงานขับรถ พร้อมระบุความรับผิดชอบเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้ชัดเจน สถานศึกษาต้องจัดทำประกันอุบัติเหตุในการพานักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาไปนอกสถานศึกษา พนักงานขับรถจะต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และรถยนต์โดยสารจะต้องหยุดพักรถไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทาง
ใช้รถยนต์ไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง จำนวน 3 คันขึ้นไป ต้องจัดให้มีรถนำขบวน ตรวจสอบเส้นทางก่อนการเดินทาง เส้นทางที่ขับไกลเกินกว่า 4 ชั่วโมง ต้องจัดให้มีพนักงานขับรถ จำนวน 2 คน เพื่อสับเปลี่ยนกันขับ เส้นทางที่เป็นภูเขาลาดชันและคดเคี้ยว ให้ใช้รถยนต์โดยสารชั้นเดียวในการเดินทาง
ห้ามนำนักเรียนออกเดินทางในเวลากลางคืน ให้มีครูที่เป็นผู้ควบคุมอย่างน้อย 2 คน และต้องผลัดกันทำหน้าที่คอยกำกับดูแลพนักงานขับรถ กำกับดูแลนักเรียนให้คาดเข็มขัดนิรภัย
ห้ามไม่ให้มีการบรรทุกนักเรียนเกินจำนวนที่นั่งของรถยนต์โดยสาร ให้ความสำคัญกับการทำสัญญา โดยให้เน้นเรื่องความปลอดภัย ให้ถือเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ในการดูแล กำกับติดตาม ตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการและแนวทางดังกล่าวข้างต้นอย่างละเอียดรอบคอบ