เล่าเรื่อง เมืองอุบล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี (แห่งแรกในภาคอีสาน)

   เมื่อ : 13 ต.ค. 2567

            ประวัติและความเป็นมา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ตั้งอยู่ริมถนนเขื่อนธานี ทางด้านทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง ตัวอาคารเดิมใช้เป็นศาลากลางจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ บนที่ดินซึ่งพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงขอมาจากทายาทของราชบุตร (สุย) เพื่อใช้เป็นที่ตั้งที่ทำการ หน่วยงานของรัฐบาลมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ 

            เมื่อบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น อาคารศาลากลางหลังเก่า ไม่สามารถต่อเติมขยับขยายให้กว้างขวางได้ กระทรวงมหาดไทยจึงสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ขึ้นทางด้านทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง และย้ายส่วนราชการต่างๆ ไปทำการที่อาคารหลังใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ส่วนอาคารหลังเก่า ทางจังหวัดได้อนุญาตให้หน่วยงานอื่นๆ ใช้เป็นสำนักงานมาโดยตลอด

            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เรือตรีดนัย เกตุศิริ ร.น. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขึ้น พร้อมทั้งได้มอบอาคารศาลากลางหลังเก่าที่มีคุณค่าทางศิลปะสถาปัตย์ ให้กรมศิลปากรทำการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น

            หลังจากกรมศิลปากรรับมอบตัวอาคารจากทางจังหวัดแล้ว ได้มอบหมายให้กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำโครงการและสำรวจรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทางด้านวิชาการ เพื่อวางแนวทางในการจัดแสดงไปพร้อมกับการซ่อมแซมตัวอาคารเพิ่มเติมจากที่จังหวัดได้ดำเนินการไปแล้วเป็นบางส่วน ตามกำลังงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๑

            เมื่อการซ่อมแซมตัวอาคารและการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จ จึงกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๒

            การจัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนจังหวัด (Provincial Museum) แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กรมศิลปากรจัดตั้งขึ้นเพื่อสนองความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น ที่จะใช้เป็นศูนย์ศึกษาอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของตนตามแนวทางของการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานสมัยใหม่ การจัดแสดงจึงเน้นหนักถึงเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และชาติพันธุ์วิทยาเป็นสำคัญ โดยแบ่งเรื่องราวออกตามลักษณะของห้องจัดแสดง รวมทั้งสิ้น ๑๐ ห้องจัดแสดง ดังนี้

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๑ สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติการตั้งเมือง และข้อมูลโดยทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๒ ธรณีวิทยา การกำเนิดโลก และที่ราบสูงโคราช แหล่งน้ำ แหล่งแร่ ทรัพยากรธรณีที่สำคัญของจังหวัด โดยได้รับความร่วมมือจากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมทำการจัดแสดงเรื่องราวดังกล่าวนี้ ให้ ๑ ห้องจัดแสดง

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๓ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานที่สำคัญทางด้านโบราณคดี เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๔ สมัยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ระยะแรกที่ปรากฏขึ้น ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ อันได้แก่วัฒนธรรมทวารวดีและเจนละ

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๕ และ ๖ หลักฐานทางด้านศิลปะโบราณคดี ซึ่งแสดงอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร สมัยเมืองพระนคร ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ วัฒนธรรมไทย-ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๕

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๗ หัตถกรรมพื้นบ้าน ผ้าโบราณ และผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี   

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๘ การละเล่นและดนตรีพื้นเมือง 

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๙ เครื่องทองเหลืองและเครื่องจักสานพื้นบ้าน 

          @ ห้องจัดแสดงที่ ๑๐ เครื่องใช้เจ้าเมืองอุบลฯ งานประณีตศิลป์ และเครื่องใช้เนื่องในพุทธศาสนา

งานบริการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

          @ จัดบริการทางการศึกษา นำชมพิพิธภัณฑสถาน จัดฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง บรรยาย ทางวิชาการ และจัดนิทรรศการพิเศษ

          @ จัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่เรื่องราวทางด้านวิชาการ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา และวัฒนธรรมพื้นบ้าน แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ

          @ จำหน่ายหนังสือทางด้านวิชาการ โปสการ์ด หนังสือนำชม และของที่ระลึกเพื่อหาทุนสำหรับกิจการพิพิธภัณฑสถาน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เปิดบริการ วันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09:00-16:30 น.

โทรศัพท์ ๐๔๕-๒๕๕๐๗๑

             ………

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน