ข่าวดี!!! ”มวยไทย” ได้บรรจุเป็นกีฬาสาธิต ในการแข่งขันโอลิมปิก 2024
นับเป็นข่าวดีของแวดวงกีฬาไทย เมื่อสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) เปิดเผยว่ากีฬามวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติไทย จะได้ไปร่วมโชว์การแข่งขันรูปแบบสาธิตในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกเกมส์ 2024 ”ปารีส 2024” ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยจะจัดขึ้นวันที่ 26 กรกฎาคม -11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ในการผลักดันและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) มาโดยตลอด เพื่อนำ ”มวยไทย” บรรจุไว้ในแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน
สำหรับการสาธิตกีฬามวยไทยมีนักมวยไทยไปร่วมสาธิตเสมือนจริงเต็มรูปแบบ และมีการแสดงปี่กลองมวยไทย การไหว้ครู ตามศิลปวัฒนธรรมมวยไทยที่ถูกต้องให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่จากชาติต่างๆ ได้รับรู้ถึงศิลปะแม่ไม้มวยไทยที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย ซึ่งงานนี้ “บัวขาว บัญชาเมฆ” นักชกมวยไทยชื่อดังจะร่วมโชว์ไหว้ครู ณ มหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2024
ทั้งนี้ “มวยไทย” จะเข้าร่วมในโปรแกรมเสริม (Side Program) โดยมีการจัดเวิร์กช็อปมวยไทยที่บ้านมวยภายในโอลิมปิกพาร์ก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 5 วัน ไฮไลต์จะเป็นวันที่ 5 และ 6 สิงหาคม 2567 ซึ่งจะมีการจัดมวยไทย 2 วันเต็ม ในสนามกีฬามวยไทยที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษใจกลาง Club France
ด้าน นายนาดีร์ อัลลูอาเช ประธานสหพันธ์มวยไทยแห่งฝรั่งเศส กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการนำมวยไทยไปจัดการแข่งขันสาธิตที่ฝรั่งเศส ในช่วงระหว่างโอลิมปิก 2024 ในครั้งนี้ ที่สำคัญยังมีการนำศิลปะแม่ไม้มวยไทยไปจัดแสดงด้วย ถือเป็นบันไดก้าวแรกในการสานฝันนำมวยไทยไปสู่โอลิมปิกเกมส์ ต้องขอบคุณทาง IFMA ที่ทุ่มเทมาตลอด 30 ปี ในการผลักดันมวยไทย
- ผลักดันกีฬา “มวยไทย” เป็น Soft Power ส่งครูมวยไทยไปสอนในต่างประเทศ
(6 ก.พ. 2567) กองทัพบกผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา จัดงานเฟสติวัลมวยไทย ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่อ “มหัศจรรย์ วันมวยไทย ดังไกลสู่ชาวโลก” ประจำปี 2567 (Amazing Muay Thai World Festival 2024 ระหว่างวันที่ 4 - 6 ก.พ. 2567) เพื่อส่งเสริมมวยไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ส่งเสริมให้มวยไทยเป็นกีฬาประจำชาติ และมรดกของชาติไทย เผยแพร่ประวัติศาสตร์ จารึกประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามและเป็นสากล เพื่อให้กีฬามวยไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก และเพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรมโดยใช้มวยไทยเป็นสื่อกลาง
- ต่อคิวเสนอยูเนสโกให้มวยไทยเป็นมรดกโลก
(26 มี.ค. 2567) ครม.เห็นชอบให้เสนอมรดกภูมิปัญญา ชุดไทย – มวยไทย เข้าคิวขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก โดย “มวยไทย” (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน “จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งบันทึกโดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère)
“มวยไทย” เป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม การฝึกฝนวิชามวยไทย มีตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ
เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือ การใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคมาประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่างๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครู และการครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง ปัจจุบันมวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ ที่มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
การนำเสนอ ‘มวยไทย’ ต่อยูเนสโกนั้น เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภทบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย
1. รายการที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003
2. การขึ้นทะเบียนรายการที่นำเสนอนี้จะส่งเสริมความประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ
3. มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม
4. รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
5. เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิกตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12
ทั้งนี้ หาก ‘มวยไทย’ ได้ขึ้นทะเบียนของยูเนสโกจะถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 5 ของประเทศไทยต่อจาก ‘ประเพณีสงกรานต์ไทย’ ที่ขึ้นทะเบียนไปเมื่อปี 2566 (โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ ‘โขน’ ในปี 2561, ‘นวดไทย’ ในปี 2562 และ ‘โนรา’ ของภาคใต้ ในปี 2564).