เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.23 : ก้าวสู่ หนึ่งทศวรรษ ถนนสายวัฒนธรรม เขมราษฎร์ธานี

   เมื่อ : 09 เม.ย. 2567

            ความเป็นมา: 199 ปี อำเภอเขมราฐ ตรงกับ ปี พ.ศ. 2556 ชุมชนชาวเขมราฐ มีแนวคิดริเริ่มจะจัดงานฉลอง 200 ปี เขมราษฎร์ธานี ขึ้นใน ปี 2557

            ประกอบด้วย กลุ่มฮักนะเขมราฐ นำโดยนายวัชรินทร์ ผุดผ่อง และ ชมรมถ่ายภาพเขมราฐ โดย นายสันติพงษ์ เจียวิทยนันท์ และคณะ ซึ่งใช้รูปแบบการนำเสนอข้อมูลภาพเก่า บ้านเมือง อาคาร สถานที่ และแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านสื่อทุกช่องทาง และมีหน่วยงาน องค์กร ชมรมชมรมต่างๆ มองเห็นคุณค่าและทิศทางการพลิกฟื้นเมืองเก่าให้มีความโดดเด่นเหมือนถนนคนเดินที่เชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งมีนางลัดดา เจษฎาพาณิชย์ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐและคณะ ให้การสนับสนุนกิจกรรม 

            ที่สำคัญคือกลุ่มนักปราชญ์เมืองเขมราฐ ซึ่งมีหลายรุ่นอายุ เช่น อาจารย์สมุทร ภาวะวิจารณ์ ข้าราชการบำนาญ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเขมราฐ อาจารย์พิบูลย์ ใจแก้ว, นายไพบูลย์ ศรีธัญรัตน์, นายเวียงชัย ใจแก้ว, อาจารย์บุญยอ สมสิน, อาจารย์ทวีชัย จำปาวัลย์ และกลุ่มสตรีเขมราฐ รวมทั้งเจ้าของอาคารบ้านเรือน บ้านขุนภูรีประศาสน์ โรงแรมสุขสงวน ร้านค้า ในถนนวิศิษฐ์ศรี และชาวเขมราฐทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนโดยเปิดพื้นที่ และเวทีเสวนา เวทีการแสดง และการร้องเล่นเต้นรำ การจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ของที่ระทึก โดยกำหนดจัดกิจกรรมในวันเสาร์แรกของทุกเดือนในปี 2556 นับเป็นการจุดประกายถนนสายวัฒนธรรมอำเภอเขมราฐ ครั้งแรก เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดงานฉลอง 200 ปี เขมราษฎร์ธานี ในปี 2557 

            ในระหว่างเตรียมพร้อมนี้ ได้มีคณะกรรมการ คณะทำงานหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายวางแผนออกแบบการจัดงาน ฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก หอนาฬิกา 200 ปี ฝ่ายพิธีการ ฝ่ายบันเทิง และการประกวดกิจกรรมท้องถิ่น รวมทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสาร ซึ่งไม่สามารถนำรายละเอียดทั้งหมด และจะมีการนำเสนอในโอกาสต่อไป

            ความสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การจัดงานขึ้นได้คือจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมผลักดันสนับสนุน และมีนายสมชัย คล้ายทับทิม นายอำเภอเขมราฐ นำเสนอระเบียบวาระในที่ประชุมจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประกอบการพิจารณา ให้ทุกภาคส่วนรับทราบและให้การสนับสนุน

            ส่วนระดับอำเภอ มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุน ทุ่มเทเสียสละ เช่น การสร้างภาพยนตร์ อ้อมกอดเขมราฐ และเพลงประกอบอีกหลายชุด และทีมครูสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ ช่วยส่งเสริมศิลปิน ซึ่งทุกกิจกรรมจัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมจัดงานฉลอง 200 ปี เขมราษฎร์ธานี 

            ปี 2557 จัดงานฉลอง 200 ปี เขมราษฏรธานี เพื่อสืบสานย้อนตำนานประวัติศาสตร์ ระหว่างวันที่ 11 – 14 เมษายน 2557 ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ที่สร้างบ้านแปงเมือง และนำความเจริญรุ่งเรืองสู่เมืองเขมราฐ จนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสัมพันธ์ สานความสามัคคี มีความสุข และภาคภูมิใจในถิ่นมาตุภูมิ พอสรุป ดังนี้

          @ วันที่ 11 เมษายน 2557 พิธีพุทธาภิเษก โดยมีพระราชธีราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพระภิกษุสงฆ์ 200 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรมตลอดคืน ณ ลานอนุสาวรีย์พระเทพวงศา บริเวณดอนปู่ตา พิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง อนุสาวรีย์พระเทพวงศา และสมโภชเมืองเขมราษฏร์ธานี 

          @ วันที่ 12 เมษายน 2557 เวลา 06.00 น. พิธีทำบุญตักบาตรพระ 200 รูป ณ บริเวณดอนปู่ตา ส่วนภาคบ่าย ขบวนแห่บุปผชาติจากคุ้มต่างๆ ในอำเภอเขมราฐ ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นสนับสนุนให้แสดงและเคลื่อนขบวนไปตามถนนวิศิษฐ์ศรี เส้นกลางเมืองเขมราฐ และกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลคู่พิเศษโดยครูสลา คุณาวุฒิ และทีมศิลปิน กับทีมเมืองเขมราฐ     

            ภาคกลางคืน มีการประกวดธิดาบุปผชาติ สลับการแสดง ของศิลปิน นักร้อง นำโดย ครูสลา คุณวุฒิ ณ ลานดอกจาน เทศบาลตำบลเขมราฐ       

            นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันชกมวยไทย ศึกรวมน้ำใจพัฒนา ณ เวทีมวยชั่วคราวโป่งดินแดง ในเขตเทศบาลตำบลเขมราฐ อีกด้วย

          @ วันที่ 13 เมษายน 2557 ภาคเช้า มีพิธีทำบุญตักบาตรของชาวเขมราฐย้อนยุคแบบโบราณ บริเวณ ถนนวิศิษฏ์ศรี สายหลักกลางเมืองเขมราฐ สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธลุ่มแม่น้ำโขง พิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระเทพวงศา และบวงสรวงศาลหลักเมือง ขอพรเจ้าปู่ตา 

            ภาคบ่าย การแสดงประกอบพิธีเปิด และชมขบวนแห่บุปผชาติ จากเทศบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่น ทุกแห่งในอำเภอเขมราฐ โดยมีนายวันชัย  สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน มีนายสมชัย คล้ายทับทิม นายอำเภอเขมราฐ กล่าวรายงานความเป็นมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นขบวนแห่บุปผชาติ ผ่านเข้าในเมือง และแสดงที่ลานดอกจานเทศบาลตำบลเขมราฐ 

            ในภาคกลางคืน ชมการแสดง แสง สี เสียง ตระการตา ชุด “สืบสานตำนานเมืองเขมราษฏร์ธานี” โดยมีนายพรชัย โค้วสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิด และการแสดงคอนเสิร์ต ของศิลปินนักร้องตลอดคืน 

          @ วันที่ 14 เมษายน 2557 การแข่งขันเปตองสานสัมพันธ์ ไทย – สปป.ลาว และการประกวดรำตังหวาย ต้นตำหรับแห่งแรกของประเทศไทย ในการนี้ มีท่านสิริ บัวผัน รองเจ้าเมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว นำนักกีฬาและนักแสดง ร่วมฉลอง 200 ปีเขมราษฏร์ธานี ด้วย 

            ในภาคกลางคืน พิธีเปิดงานฉลอง 200 ปี เขมราษฏร์ธานี  โดยมีนายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงาน และนายพรชัย โค้วสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการแสดง แสง สี เสียง “สืบตำนานเมืองเขมราษฏร์ธานี” ณ เวทีกลาง โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม พร้อมจัดพาแลง ชมการแสดง “รำตังหวายต้นตำหรับมืองเขมราษฏร์ธานี” ประกอบพิธีเปิดยิ่งใหญ่ มีนักเรียน ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 200 คน โดยมีนายไพจิตร จัยวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม และคณะครูนักเรียน สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตลอดงาน

            ต่อจากนั้น สนุกสนานกับการรำวงย้อนยุค ณ สนามกีฬา โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม มีกลุ่มแม่บ้าน อสม. และกลุ่มพัฒนาสตรี จำนวน 2,222 คน แปรอักษร เมืองเขมราษฏร์ธานี สร้างความสนุกสนานตลอดงาน และมีศิลปิน ดาว บ้านดอน นักร้องลูกทุ่งต้นแบบรำวง ให้ความบันเทิงตลอดคืน

            การจัดงาน ฉลอง 200 ปี เมืองเขมราษฎร์ธานี ครั้งนี้ มีบทสรุปที่หลายฝ่ายต้องติดตามและบันทึกไว้เพื่อเป็นแนวทางในการสืบค้น และการจัดงานครั้งต่อไป ในการจัดงานมีกาออกแบบ การวางแผนอย่างดี และที่เด่นชัด คือ การตกแต่งอาคาร บ้านเรือนสมัยโบราณ ในถนนคนเดิน และมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก 200 ปีเขมราษฏร์ธานี และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นดั้งเดิมให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และการเปิดเวทีเสวนา เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในทางวิชาการ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร และปราชญ์ท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง   

            ที่สำคัญการดำเนินงานยังได้รับการสนับสนุน และการประชาสัมพันธ์ ทั้งสื่อมวลชน สื่อบุคคลที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การการจัดงาน และกิจกรรมต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ และจะอยู่ในความทรงจำของชาวเขมราฐ และชาวอุบลราชธานี ตลอดไป

          @ วัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอีสาน วิถีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ และการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชาวเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี 

          @ บ้านขุนภูรีประศาสน์ บ้านขุนภูรีประศาสน์ เป็นบ้านไม้เก่าของขุนภูรีประศาสน์ที่ทายาทได้มอบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งภายในจะจัดแสดงเครื่องใช้ของท่านขุนภูรีประศาสน์ ภาพเก่า โต๊ะเก้าอี้ เครื่องครัว และเครื่องใช้ภายในบ้าน และเป็นบ้านไม้สองชั้นใต้ถุนสูง หลังแรกที่ใช้เป็นลานวัฒนธรรม แห่งแรกในอำเภอเขมราฐ 

          @ โรงแรมสุขสงวน เป็นโรงแรมแห่งแรกของอำเภอเขมราฐ ราคาห้องละ 15 - 25 บาท/คืน ในอดีต ข้าราชการหรือ ผู้คนที่เดินทางมายังอำเภอเขมราฐ ต้องพักกันตามสถานที่ราชการ หรืออาศัยวัดเป็นที่หลับนอน 

            ในปี 2505 มีโรงเลื่อยจักรตัวฮั้ว มาตั้งและแปรรูปไม้ที่บ้านนาหว้าน้อย หมู่ที่ 9 ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ ทำให้เศรษฐกิจ และมีการเดินทางสู่เขมราฐมากขึ้น และโรงแรมสุขสงวน สร้างด้วยไม้สวยงาม เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2507 บริการตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา (ในสมัยนั้นถนนจากอำนาจเจริญ- เขมราฐ) ยังเป็นถนนลูกรัง จนปี 2515 จึงเป็นถนนลาดยางมาตรฐาน)

                & ต้นตำรับรำตังหวาย

            ถิ่นไทยนักปราชญ์

            ทวยราษฎร์น้ำใจงาม

            สุดเขตแดนสยาม

            มะขามหวานหลายหลาก 

            กล้วยตากรสดี

            ประเพณีแห่เทียนพรรษา

            แข่งนาวาสองฝั่งโขง &

            คำขวัญอำเภอเขมราฐ บ่งบอกถึงวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตที่ดีงาม และความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นดินแดนที่ความเกษมสุขแห่งหนึ่งของประเทศไทย

            จากวันวาน...ถึงวันนี้  2557-2567 ถนนสายวัฒนธรรม 200 ปี เขมราษฎร์ธานี ก้าวสู่…หนึ่งทศวรรษ “ถนนสายวัฒนธรรม” หรือ ถนนคนเดินที่ยั่งยืน ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า พลังความรักความสามัคคีของชาวเขมราฐ ได้สร้างสรรค์ชุมชน จากที่เงียบสงบ พลิกฟื้นเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และมรดกภูมิปัญญาให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ

            ทั้งนี้ ด้วยความรู้ ความสามารถ ของนักบริหาร ปราชญ์ชาวบ้าน และวิสัยทัศน์ของชาวเขมราฐ ทุกภาคส่วน จึงส่งผลให้การจัดกิจกรรมชุมชนเจริญก้าวหน้า และมีเครือข่าย จากหน่วยงาน สถานศึกษา เครือข่ายวัฒนธรรมศิลปินแห่งชาติ และเครือข่ายวิชาการให้การสนับสนุน จนได้รับรางวัลหลายประเภท สร้างความภาคภูมิใจให้อำเภอเขมราฐจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยิ่ง

            ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เครือข่ายร่วมพัฒนากิจกรรม รวมทั้งผู้ให้การสนับสนุน และนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ ที่กรุณามาเยี่ยมเยียนเขมราษฏรธานี และจะอยู่ในความทรงจำตลอดไป.

   ………..

* ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

   7 เมษายน 2567