จ.อุบลฯ พลิกฟื้นแก่งสะพือและสายน้ำ ในรอบ 30 ปี จัดงานมหาสงกรานต์ รับมรดกโลก ปี 2567

   เมื่อ : 30 มี.ค. 2567

          ความเป็นมา : อุบลเมืองงาม สายน้ำแห่งชีวิต ก่อนปี 2535 ประชาชนในลุ่มแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี อาศัยสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตจากการจับปลาเป็นอาชีพ และทำการเกษตร ส่วนหนึ่งในฤดูแล้ง ระดับน้ำมูลจะลดลง ทำให้เกาะแก่งกว่า 30 แห่งพ้นน้ำ รวมทั้งแก่งสะพือ ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการจัดงานสงกรานต์ตลอดมา มีชื่อเสียงระดับภูมิภาค ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แก่งสะพือ อุบลราชธานี

          ที่สำคัญพระบารมีปกเกล้าฯ ชาวพิบูลมังสาหาร : โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนิน ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2498  (สองวันติดต่อกัน) โดยวันที่ 17 พฤศจิกายน เสด็จฯตามหมายกำหนดการ เพื่อเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯรับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด และทอดพระเนตรแก่งสะพือ ประทับพลับพลา แก่งสะพือเสวยพระกระยาหารกลางวัน และทรงลงพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย ในแผ่นศิลา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวพิบูลมังสาหาร และได้สร้างและประดิษฐานเป็นสถานที่สำคัญให้ประชาชน มีความรัก ความสามัคคี และจัดกิจกรรม น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณ แสดงความจงรักภักดี ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ของทุกปีนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แก่งสะพือจึงเป็นสถานที่หลอมรวมดวงใจของชาวไทย และชาวอุบลราชธานีตลอดไป

          ด้วยการพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคงด้านพลังงาน การสร้างเขื่อนปากมูล เมื่อปี 2535 จึงทำให้ระดับน้ำท่วมเกาะแก่งและแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านในลุ่มน้ำมูลตอนปลาย รวมทั้งกิจกรรมงานสงกรานต์แก่งสะพือที่เคยสร้างความรัก ความสามัคคี และประเพณีตลอดชีวิตที่ผ่านมา ก็หายไป และจมไปกับระดับน้ำของเขื่อนปากมูล 
 

          กว่า 30 ปี ที่รอคอย  ชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเขื่อนปากมูล กรมชลประทาน และส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ มีมติให้เปิดเขื่อนปากมูล เพื่อลดระดับน้ำมูลลง เพื่อให้แก่งสะพือพ้นน้ำเหมือนกับระดับน้ำธรรมชาติก่อนการสร้างเขื่อนปากมูล และไม่กระทบภาคการเกษตร การประมงสองฝั่งแม่น้ำมูลตอนล่าง และเป็นการคืนสภาพแก่งตามธรรมชาติในรอบ 30 ปี และเป็นการฟื้นคืนวิถีชีวิตชาวบ้านระยะสั้นเพียง 30 วันตลอดเดือนเมษายน 2567 นี้เท่านั้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ และฟื้นฟูประเพณีอันดีงามที่หายไปกลับมา จังหวัดอุบลราชธานี

          โดยเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ร่วมกับหน่วยงานต่างๆจึงกำหนดจัดงานมหาสงกรานต์ขึ้นระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2567 และร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทย “Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (the Intangible Cultural Heritage of Humanity) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO

          นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และ ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร นายสรชาย ครองยุทธ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร พ.ต.อ.จุมพล สุวนาม ผกก.สภ.พิบูลมังสาหาร จัดแถลงข่าวการจัดงานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ประจำปี 2567 โดยมีนายวีระยุทธ น้อยพรหม นักประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 ดำเนินรายการ เพื่อร่วมกันจัดงาน
”อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Fastival ที่จัดขึ้นในวันที่ 1-30 เมษายน 2567

          ทั้งนี้ เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทย สร้างความรักและความสามัคคี ความผูกพันในชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ และกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ผู้ร่วมงานมีความประทับใจ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ
 

          1.เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบต่อไป
          2.เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวประชาสัมพันธ์งานมหาสงกรานต์แก่งสะพือและประชา สัมพันธ์ Soft Power ของจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
          3.เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่น
          4.เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระพือ พระคู่บ้านคู่เมือง สรงน้ำพระสงฆ์ และรดน้ำขอพร ผู้สูงอายุ
          5. เพื่อส่งเสริม ฟื้นฟูการเล่นพื้นบ้านและการแสดงวิถีชุมชนพื้นเมืองต่างๆให้ยั่งยืน

          สำหรับกิจกรรมสำคัญที่หลากหลาย กว่า 20 รายการ ประกอบด้วย
         @ กิจกรรมดนตรีและสายน้ำ
         @ การแสดงเพื่อเฉลิมฉลอง ”สงกรานต์ในไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
         @ กิจกรรมวิ่ง KANG SAPHUE RUN มันส์ทะลุแก่ง 2
         @ การประกวดก่อเจดีย์ทราย
         @ การแข่งขันมวยทะเล
         @ การประกวดนางสาวพิบูลมังสาหาร
         @ ถนนซาลาเปาสายน้ำ DJ/MC/CONCERT
         @ พิธีตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ปล่อยนก ปล่อยปลา
         @ การประกวดนางสงกรานต์
         @ การประกวดขบวนแห่ทางวัฒนธรรม และขบวนแห่นางสงกรานต์
         @ การแข่งขันบักขัง (ลูกข่าง)
         @ การแข่งขันเส็งกลอง
         @ การแข่งขันส้มตำลีลา
         @ การแข่งขันกินซาลาเปา
 

         @ การเดินแบบแฟชั่นผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
         @ การแข่งขันหว่านแหหาปลา
         @ การแสดงวิถีชุมชนวัฒนธรรมพื้นบ้าน (รำวงย้อนยุค)
         @ การประกวดเดี่ยวพิณ เดี่ยวแคน
         @ การประกวด MISS QUEEN KANG SAPHUE
         @ การแสดงเด็กและเยาวชน

          นางมยุรี สงวนนาม ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานมหาสงกรานต์ ในชื่องาน “อัศจรรย์มหาสงกรานต์แก่งสะพือ World Songkran Festival” ที่จัดขึ้นในวันที่ 1-30 เมษายน 2567 มีกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมการประกวดและแข่งขัน การแสดงพื้นบ้าน จะมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมแข่งขัน สร้างสีสันในงานให้มีความบันเทิงสร้างความสุขให้ผู้มาเที่ยวชมงาน โดยจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร และภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุน เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมส่งเสริมกิจกรรมตลอดงาน และคาดว่าจะมีผู้มาเที่ยวงานนับแสนคนซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนในเทศกาลสงกรานต์จังหวัดอุบลราชธานี มีมูลค่านับร้อยล้านบาทอีกด้วย

          นายอาทิตย์ พรคุณา หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร หนึ่งในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ กล่าวให้ความเชื่อมั่นตามมติการเปิด- ปิดน้ำเขื่อนปากมูล ว่า จากมติให้เปิดบานประตูเขื่อนปากมูล เพื่อลดระดับน้ำมูล ให้พอเหมาะกับการจัดงานมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2567 นี้ ผู้รับผิดชอบมีการประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งน้ำมูลตอนบน คือ ฝายราษี. และฝายหัวนา และเขื่อนธาตุน้อย แม่น้ำชีตอนบนซึ่งอยู่เหนือจังหวัดอุบลราชธานี ต้องควบคุมระบบการปล่อยน้ำให้สัมพันกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนปากมูล ทั้งนี้ เพื่อรักษาระดับน้ำที่แก่งสะพือให้เพียงกับกิจกรรม และรักษาระดับเพื่อการผลิตน้ำประปา และการเกษตรการประมงสองฝั่งแม่น้ำมูลตลอดสายน้ำ จาก อ.เมืองอุบลราชธานี - พิบูลมังสาหาร - โขงเจียม โดยมีคณะทำงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และสร้างความเชื่อมั่นในการจัดงานมหาสงกรานต์ เป็นไปด้วยความราบรื่น มีน้ำไหลใสสะอาด ชุมเย็น เป็นที่ประทับใจของทุกคน 
         ……
      * ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
         28 มีนาคม 2567