31 ตุลาคม เทศกาลวัน Halloween แค่เพียงสนุกๆ หรือเป็นกุศโลบาย
“...trick or treat...”
“...หลอก หรือ เลี้ยง...”
เสียงเจื้อยแจ้วน่ารักของเด็กๆ ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เที่ยววิ่งไล่เคาะประตูตามบ้านเพื่อขอขนม เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เด็กๆ รวมไปจนถึงผู้ใหญ่ในประเทศแถบยุโรปเฝ้ารอคอยกันมาทุกวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี หรือที่เราๆ รู้จักกันดีในชื่อที่เรียกว่า “วันฮาโลวีน”
ตามธรรมเนียมปฏิบัติ บรรดาเจ้าของบ้านก็จะจัดเตรียมขนมหรือของขวัญไว้ เมื่อเด็กๆ มาถึงและถามว่า “หลอกหรือเลี้ยง” เจ้าของบ้านก็จะรีบมอบให้แก่เด็กๆ ด้วยความเอ็นดูแต่โดยดี แต่ถ้าหากสงวนท่าทีไม่ยอมให้โดยง่าย เด็กๆ ก็จะทำการหลอก แลบลิ้นปลิ้นตา และก่อกวนเล็กๆ หรือในบางประเทศอย่างไอร์แลนด์และสก็อตแลนด์ เด็กๆ ก็จะร้องเพลง หรือเล่าเรื่องผี จนเจ้าของบ้านแสร้งทำเป็นว่ากลัวเสียเหลือเกิน จากนั้นจึงยอมมอบขนมหรือของขวัญให้ในที่สุด ...แล้วเด็กๆ ก็จะพากันดีใจ วิ่งต่อไปเคาะประตูบ้านหลังอื่นด้วยความสนุกสนาน
ข้างต้นคือการละเล่นที่นิยมกันในเทศกาล “วันฮาโลวีน” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานว่า ทุกวันที่ 31 ตุลาคม ชาวเคลต์ (Celt) ชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์เชื่อกันว่า เป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็นถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ดังนั้นเหล่าวิญญาณของผู้เสียชีวิตจึงเที่ยวหาร่างคนสิงสู่ เพื่อที่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้บรรดาคนเป็นๆ ในยุคนั้น จึงต่างพากันแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นผีเพื่อหลอกผีไม่ให้เข้ามาสิงสู่ในร่างของตน
ประเพณี “หลอก หรือเลี้ยง” (trick or treat) ได้ริเริ่มละเล่นกันในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยแรกเริ่มจะมีการเดินร้องขอ “ขนมสำหรับวิญญาณ” (Soul Cake) จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ด้วยความเชื่อที่ว่า ยิ่งให้ขนมมากเท่าไร วิญญาณของญาติผู้บริจาคก็จะได้รับผลบุญ และทำให้มีโอกาสขึ้นสวรรค์ได้มากเท่านั้น จวบจนกระทั่งวันเวลาผ่านไป ความเชื่อเรื่องผีเริ่มเสื่อมถอยลงตามลำดับ “วันฮาโลวีน” จึงกลายเป็นเพียงพิธีการ การแต่งตัวเป็นผี หรืออื่นๆ ที่ดูประหลาดและปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน
หากแต่บางแหล่งข้อมูลเล่าขานกันว่า จริงๆ แล้ว การขอขนมนั้นมีต้นกำเนิดมาจากอังกฤษซึ่งเป็นธรรมเนียมของวัน “กี ฟอว์เก” ที่ว่ากันว่า เป็นวันฉลองการต่อต้านพวกคาทอลิก โดย “กี ฟอว์เก” ก็คือผู้ที่ถูกกษัตริย์เจมส์ที่ 1 สั่งประหารชีวิตด้วยข้อหาวางแผนจะระเบิดรัฐสภาของอังกฤษเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ได้มีคนบางกลุ่มนึกสนุกสวมหน้ากากไปยังบ้านของชาวคาทอลิก เพื่อเบียดเบียนขอขนมและเบียร์มากินกันอย่างสนุกสนาน จวบจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติมาโดยตลอด และเนื่องจากวัน “กี ฟอว์เก” นั้นใกล้กับวันฉลองนักบุญทั้งหลาย (1พฤศจิกายน) ธรรมเนียมการขอขนมตามบ้าน จึงถูกรวบหัวรวบหางนำมารวมกันไว้ใน “วันฮาโลวีน” พร้อมกับการแต่งตัวตามความเชื่อนั่นเอง
ด้านสัญลักษณ์ “ตะเกียงฟักทอง” หรือ ประเพณี Jack-O-Lanterns ที่เรามักจะคุ้นตากันในเทศกาลนี้ ก็มาจากเรื่องเล่าขานกันอีกล่ะครับ คราวนี้เล่ากันว่า มีชายจอมขี้เมาคนหนึ่งชื่อ “แจ็ค โอ แลนเทริน” ที่วันดีคืนดีก็สามารถหลอกให้ซาตานปีนขึ้นไปบนต้นไม้ได้ มิหน่ำซ้ำยังแกะสลักรูปไม้กางเขนไว้บนลำต้น จนเป็นเหตุให้ซาตานลงจากต้นไม้ไม่ได้ แจ็คจึงสามารถต่อรองกับซาตานได้ว่า หากปล่อยให้ลงมาแล้วซาตานจะไม่จับตัวเขาไป ต่อมาเมื่อถึงวันที่แจ็คตาย เขาก็ปฏิเสธที่จะไปทั้งนรกและสวรรค์ ซาตานตนนั้นจึงได้มอบถ่านไฟให้กับเขาก้อนหนึ่งซึ่งถูกใส่ไว้ในผักกาดกลวง เพื่อให้เขาใช้นำทางในที่มืดและหนาวเย็น จวบจนกระทั่งประเพณี Jack-O-Lanterns แพร่หลายเข้ามาถึงอเมริกาและพบว่า ฟักทองนั้นสามารถหาได้ง่ายกว่าผักกาด ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นสัญลักษณ์ฟักทองที่มีไฟอยู่ข้างในนั้นแทนด้วยประการฉะนี้
เทศกาล “วันฮาโลวีน” เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากความเชื่อและความสนุกสนานแล้ว ในปัจจุบันนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในเชิงพาณิชย์ “วันฮาโลวีน” ยังสามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋าให้แก่พ่อค้าแม่ขายจำนวนไม่น้อย เพราะนอกจากตามโบสถ์ต่างๆ จะมีการจัดงานปาร์ตี้วันฮาโลวีนแล้ว สถานบันเทิงเริงรมย์ก็ยังมีการเปิดฉลองเพื่อรองรับเทศกาลนี้อีกมากมาย(ไม่เว้นแม้แต่พี่ไทยเรา)
ทุกธรรมเนียม ทุกประเพณี ที่ได้รับการปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนานได้ ล้วนแล้วแต่นับว่าเป็นที่ยอมรับ แม้ในบางครั้ง เราเองอาจจะเชื่อจริงๆ หรือรู้สึกตะหงิดๆ แต่เมื่อผลลัพธ์ที่ตกผลึกออกมา หากเป็นไปในทางที่ดีแล้วก็ถือว่า นั่นเป็น “กุศโลบาย” ของคนโบร่ำโบราณที่ใช้ปรามหรือตักเตือนเราอย่างได้ผล กับเทศกาลวันฮาโลวีนนี้ก็เช่นกัน เมื่อคนในยุคเก่าก่อนได้ปลูกฝังผ่านความเชื่อให้คนทำทานหรือให้ขนม เพื่อเป็นบุญกุศลแก่คนที่ตายไป นอกจากจะได้ในแง่มุมของการเอื้ออาทรต่อกันแล้ว ความสนุกสนานก็จะมีตามมาอย่างที่ปรากฏให้เห็น
ส่วนในบ้านเรา “กุศโลบาย” นั้นก็มีเยอะแยะ อาทิ หากลูกชายหรือเด็กหนุ่มจะออกจากบ้านไปไหนตอนกลางคืน คนโบราณเขาก็ให้หวีผม ประแป้งแต่งตัวดีๆ ไม่งั้นผีจะมาลักพาตัวไป ซึ่งหากพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ความจริงก็คือ ในสมัยก่อนนักเลงหัวไม้นั้นมีเยอะ และลูกผู้ชายก็มักจะยอมใครได้เสียที่ไหน การหวีผมประแป้งก็เหมือนจะสื่อความหมายว่า ไปหาผู้หญิงหรือจีบสาว ไม่ได้ไปกินเหล้าเมายาหรือหาเรื่องกับใคร ดังนั้นคนสมัยก่อนจึงคิดอุบายคำห้ามนี้ขึ้นมา อย่างน้อยๆ ก็เป็นด่านแรกให้คนเห็นว่าไปหาสาว ไม่ได้ไปตีรันฟันแทงกับใคร
อย่างไรก็ดี เทศกาล “วันฮาโลวีน” ต่างเป็นที่นิยมกันอย่างมากมาย จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่มาจากชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ ก็แพร่หลายขจรขจายกันเรื่อยมา จนในที่สุดก็กลายเป็นประเพณีนิยมกันไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเรา หากแต่ประเทศต้นกำเนิดเขาจะรู้กันไหมล่ะนี่ว่า การละเล่น “หลอก หรือเลี้ยง” ในบ้านเรานั่นนะ เขาเล่นกันมาหลายสมัยแล้ว ไม่ต้องลงทุนแต่งตัวเป็นผีหรือคนตายหรอกครับ ...เพราะบ้านเรา เหนือชั้นกว่านั้น
...ไม่ตายก็หลอกได้ แถมน่ากลัวและเดือดร้อนกว่าอีกต่างหาก จริงไหมครับ เออ...ท่าน ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย...
โดย ธนกฤต วงษ์พรต