นายกฯ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

   เมื่อ : 22 มี.ค. 2567

            22 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานในพิธีเปิดโรงงาน 8 ของเดลต้า และศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ รวมถึงได้มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการเร่งพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โรงงาน 8 ของเดลต้า ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปูเหนือ พร้อมจะมีการพาเยี่ยมชมโรงงาน ทั้งเดลต้าโชว์เคส, สายการผลิต, ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และโซลูชันรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะและระบบอาคารอัตโนมัติ โดยบริษัท Delta Electronics ได้ตั้งศูนย์ R&D และการขยายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จะลงทุนในไทยเพิ่มประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สร้างมูลค่าอีกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่หลายภาคส่วนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในอีก 4 ปีข้างหน้า 

            นอกจากนี้ Delta จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยด้านการพัฒนา Human capital (ทุนมนุษย์) ทั้งในรูปแบบของการให้ทุนการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในประเทศไทยด้วย ความร่วมมือกันในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปูทางไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ Semiconductor ในอนาคต

            เร่งนโยบายดันไทยเป็นศูนย์กลางอีวีอาเซียน

            การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. จะร่วมขับเคลื่อนนโยบายผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก มีเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 พร้อม 3 แผนงาน คือ

            1. EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟแวร์ และโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยปี 2567 จะผลิตกำลังคนให้ได้ 5,000 คน

            2. EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น มีเป้าหมายให้หน่วยงานในสังกัด อว. เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย ร้อยละ 30 ของยานยนต์ที่ใช้งานของหน่วยงานภายในระยะเวลา 5 ปี

            3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปรับปรุงแผนด้าน ทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็น Flagships

            นายกรัฐมนตรีย้ำให้ความสำคัญและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นศูนย์กลางอีวีอาเซียนที่ต้องขับเคลื่อนรถยนต์ EV ของทุกประเภท ให้คนไทยหันมาใช้รถไฟฟ้า เพื่อช่วยลด PM 2.5 และทำให้ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่งมากขึ้น

            รัฐบาลดึงดูดภาคเอกชนร่วมลงทุน ยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

            ตั้งเป้าส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำถือเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในประเทศ สู่อุตสาหกรรม 5.0 และระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 

            สร้างมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้าน ดันไทยเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ในภูมิภาค

            สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย มุ่งหวังให้เป็นฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 อุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จะมีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท โดยการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB และ PCBA) ในช่วงปี 2561 - พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 150,557 ล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนรายใหญ่ของโลกเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง PCB (Printed Circuit Board) และ PCBA (Printed Circuit Board Assembly) ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากจีน.