บุรีรัมย์ พบใบเสมาสมัยทวารวดีกว่า 80 ใบ เชื่อเป็นชุมชนโบราณ ชาวบ้านแห่กราบไหว้นำน้ำไปบูชาเชื่อศักดิ์สิทธิ์

   เมื่อ : 15 มี.ค. 2567

จนท.กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดี พบใบเสมาสมัยทวารวดีกว่า 80 ใบกระจายในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน พร้อมชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เชื่อเป็นชุมชนโบราณอายุนับพันปี พร้อมให้ความรู้ชาวบ้าน นร.ร่วมดูแลอนุรักษ์ ขณะชาวบ้าน-ผู้สูงอายุจุดธูปเทียนกราบไหว้ นำน้ำจากหลุมที่ขุดค้นไปบูชาและทาตามร่างกายเชื่อเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

            15 มี.ค. 2567 เจ้าหน้าที่กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้ทำการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีโนนสำโรง บ้านปะเคียบ ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ในโครงการศึกษาและกำหนดอายุแหล่งโบราณคดี ประเภทใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดี โดยการขุดค้นครั้งนี้พบใบเสมาสมัยทวารวดีสภาพสมบูรณ์ และยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายจำนวน 8 ใบ และพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ใช้ในการดำรงชีวิต รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้พิธีกรรมความเชื่อของคนสมัยก่อนด้วย 

            จากหลักฐานที่พบจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 และจากข้อมูลพบว่าในหมู่บ้าน ปะเคียบ ม.1 และบ้านหลักเมือง ม.16 ต.ปะเคียบ มีการค้นพบใบเสมาโบราณกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ประมาณ 80 - 90 ใบ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ แต่บางส่วนได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ตามวัดบ้าง ศาลากลางบ้าง แต่ยังคงมีพื้นที่โนนสำโรงแห่งนี้ ที่ใบเสมายังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายออก ทางสำนักศิลปากรที่ 10 จึงได้ทำโครงการขุดค้นครั้งนี้ เพื่อศึกษาและกำหนดอายุแหล่งโบราณคดีโนนสำโรงแห่งนี้    โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างดินและภาชนะดินเผาที่ขุดพบบางส่วน ไปตรวจหาค่าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดอายุสมัยแหล่งโบราณคดีให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้ที่เดิมแล้วทำการปิดหลุม โดยให้ชุมชนร่วมกันดูแลอนุรักษ์ ขณะที่ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ ที่ทราบข่าวก็ได้มาจุดธูปเทียนกราบไหว้ขอโชคลาภ และนำภาชนะใส่น้ำจากหลุมที่ขุดค้น เพื่อนำไปบูชา และทาตามร่างกายตามความเชื่อ เพราะเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์   

            นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผอ.กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมศิลปากรเคยมาสำรวจ พื้นที่โนนสำโรงบ้านปะเคียบ ม.1 และบ้านหลักเมือง ม.16 ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง เมื่อปี 2532 และเคยมีรายงานที่บันทึกไว้ว่าพบคูเมืองโบราณ และใบเสมา มากถึง 80 – 90 ใบซึ่งถือว่าเยอะมากหากเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ จะค้นพบเพียง 30 – 40 ใบเท่านั้น และที่อื่นมีการเคลื่อนย้ายไปไว้ตามสถานที่ต่างๆ แต่ที่โนนสำโรงแห่งนี้ยังอยู่ตำแหน่งเดิมและสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเชื่อว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งการขุดค้นครั้งนี้ก็เพื่อกำหนดค่าอายุแหล่งโบราณคดีให้เกิดความชัดเจน และยังได้ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมของคนสมัยโบราณด้วย   

            ด้านนายอำนาจ ควินรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านปะเคียบ บอกว่า จุดที่ทำการขุดค้นเป็นพื้นที่ของนางสอน พอกแก้ว อายุ 67 ปี แต่ที่ผ่านมาจะมีสภาพรกร้างเพราะไม่มีกล้าเข้ามา เพราะจากคำบอกเล่าแม้กระทั่ง จนท.ที่เข้ามสำรวจในพื้นที่แห่งนี้ ก็จะเจอกับเรื่องลี้ลับที่มองไม่เห็นต้องทำพิธีขอขมา ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านก็เชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ ในส่วนของผู้นำชุมชนก็จะขอความร่วมมือให้ชาวบ้านร่วมกับดูแลอนุรักษ์.

Cr.สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์