เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.18 เมืองนักปราชญ์ : ราชธานีแห่งเดียวในสยาม

   เมื่อ : 24 ก.พ. 2567

            จังหวัดอุบลราชธานี เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์ คนดีศรีอุบล…

            ...จากคำขวัญที่ยาวและสาระสำคัญที่หลากหลาย อันเนื่องจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และความเจริญรุ่งเรืองมากว่า 232 ปี ทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม มีความโดดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะรากฐานด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นดินแดนแหล่งธรรมะ ถิ่นกำเนิดพระอริยสงฆ์ เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลววปู่ชา และมีการสืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษาต่อเนื่องกันมานานกว่า 123 ปี และมีขาวอุบลราชธานี ได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวนมากถึง 16 คน (จาก 2528-2564) และให้สมญานาม “อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งศิลปิน” อีกด้วย

          จังหวัดอุบลราชธานี นับว่ามีความโดดเด่น และข้อสังเกตเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติ หลายประการ ดังนี้

  • ประการแรก จังหวัดอุบลราชธานี มีศิลปินแห่งชาติช่างเทียนพรรษา คนแรก คือ ดร.คำหมา แสงงาม สาขาทัศนศิลป์ ปี 2529 และศิลปินแห่งชาติ หมอลำคนแรก คือ นายทองมาก จันทะลือ สาขาศิลปะการแสดง(หมอลำ) ปี 2529 
  • ประการที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี มีศิลปินแห่งชาติที่เป็นหมอลำ จำนวน 6 คน คือ

            1 นายทองมาก จันทะลือ สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2529

            2 นายเคน ดาเหลา สาขา ศิลปะการแสดง(หมอลำ) ปี 2534

            3 นางฉวีวรรณ ดำเนิน สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2536 

            4 นางบุญเพ็งใฝผิวชัย สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2540 

            5 นายฉลาด ส่งเสริม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2548

            6 นางบานเย็น รากแก่น สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2556

  • ประการที่ 3 จังหวัดอุบลราชธานี มีศิลปินแห่งชาติ รุ่น สู่รุ่น 1 คู่ แม่ลูก คือ นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ปี 2561 นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ปี 2564
  • ประการที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี  มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องพร้อมกัน 3 คน และครบทุกสาขา คือ

            1 นายมีชัย แต้สุจริยา สาขาทัศนศิลป์ ปี 2564

            2 นายสลา คุณวุฒิ สาขา ศิลปะการแสดง ปี 2564

            3 นายวิชชา ลุนาชัย สาขา วรรณศิลป์ ปี 2564

  • ประการที่ 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีศิลปินแห่งชาติจำนวนมากถึง 16 คน นับว่าจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งศิลปิน อย่างแท้จริง

      @ ดร.คำหมา แสงงาม 

ศิลปินแห่งชาติ ช่างเทียนพรรษาคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี..

            ดร.คำหมา แสงงาม เกิดเมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. 2434 ที่บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายเคน และนางค้ำ แสงงาม มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน นายคำหมา แสงงาม เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว และได้แต่งงานกับนางลำดวน แสงงาม มีบุตรธิดา 4 คน

            การศึกษาเล่าเรียน ท่านเรียนหนังสือตัวธรรมและมูลกระจายจากพระสงฆ์ เมื่ออายุ 6 ขวบ พ่อแม่นำไปฝากเป็นศิษย์วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน ศึกษาวิชาหนังสือและวิชาช่างกับพระอาจารย์อุปัชฌาย์วงศ์ พรหมฺสโร บรมครูช่างแห่งบ้านชีทวนจนกระทั่งอายุ 10 ขวบ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ขณะนั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศิลปะการช่างไปพร้อมกันด้วย

            ดร.คำหมา แสงงาม หรือ “ครูคำหมา” หรือ “จารย์ครูคำหมา” ได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ ทางช่างศิลป์ผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับของซาวอีสาน จนกระทั่งมีผู้ให้สมญานามว่า “ช่างเทวดา” และ “ช่างเนรมิต” โดยเป็นช่างคนเดียวของภาคอีสาน ที่มีความสามารถในการทำ ”นกหัสดีลิงค์”  ได้อย่างสวยงาม และ ด้วยความโดดเด่นในฝีมือการก่อสร้างและการบูรณะถาวรวัตถุ ประเภทโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ฯลฯ อันเป็นสิ่งปลูกสร้างทางพุทธศาสนา ได้สร้างซื่อเสียงให้แก่ครูคำหมา จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อาทิ การบูรณะองค์พระธาตุพนม การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกแบบและก่อสร้างซุ้มประตูวัด กำแพงแก้ว โบสถ์ เมรุเผาศพนกหัสดีลิงค์แบบโบราณ

            การสืบสานภูมิปัญญา ในด้านงานแกะสลัก ท่านถือเป็นผู้บุกเบิก ”การแกะเทียนพรรษา” ที่ถือเป็นรูปแบบใหม่ในยุคนั้น เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีการหล่อเทียน แห่เทียน เช่นปัจจุบัน ซาวบ้านจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระ เพื่อจุดบูชาจำพรรษา 

            ดร.คำหมา แสงงาม ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชู เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (งานปั้นแกะสลัก) ปี 2529 นับเป็นครูช่างศิลป์และช่างเทียนพรรษาคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และต่อมาจังหวัดอุบลราชธานี มีศิลปินแห่งชาติหลายสาขา รวม 16 คน สร้างชื่อเสียงและเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลและสังคมประเทศชาติสืบไป ..

          วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ ขอนำรายชื่อศิลปินแห่งชาติ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับการประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ 16 คน ดังนี้

1. นายคำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2529 สาขา ทัศนศิลป์ (ปั้นแกะสลัก)

2. นายทองมาก จันทะลือ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2529 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)

3. นายเฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2531 สาขา ทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

4. นายเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2534 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)

5. นางฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2536 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)

6. นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2540 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)

7. นายคำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2544 สาขา วรรณศิลป์ (วรรณศิลป์)

8. นายฉลาด ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2548 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)

9. นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553 สาขา ทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์)

10. นางบานเย็น รากแก่น ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2556 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)

11. นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2557 สาขา ศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) 

12. นายสมบัติ เมทะนี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2559 สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และโทรทัศน์)

13. นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2561 สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์ (ปราณีต-ทอผ้า)

14. นายวิชชา ลุนาชัย ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 สาขา วรรณศิลป์ (วรรณศิลป์)

15. นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า)

16. นายสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง)

            นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานีและชาวไทยทุกคน ที่ศิลปินสาขาต่างๆ ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ และเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป.

       …………..

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

        22 กุมภาพันธ์ 2567

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ