วัดหนองป่าพง น้อมรำลึก 32 ปี หลวงปู่ชา สุภัทโท ละสังขาร
ความสำคัญ : นับจาก ปี 2535-2567 เป็นระยะเวลา 32 ปี ที่ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ได้ละสังขารไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2535 ซึ่งจากไปในวันครู และคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ได้จัดงานปฏิบัติธรรมอาจริยบูชา ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ของทุกปี
ในปี พ.ศ.2535 นับเป็นปีที่มีความสำคัญมาก ที่มีคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ สายวัดหนองป่าพง ทั้งในประเทศและสาขาต่างประเทศ ได้มารวมกันปฏิบัติธรรม และถวายเป็นอาจริยบูชา รวมทั้งการสร้างเจดีย์(เมรุ) ที่จะประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
นอกจากการมารวมตัวของศิษยานุศิษย์สายวัดหนองป่าพงแล้ว ยังมีพระเถรานุเถระ และญาติโยมจากทั่วประเทศ มาร่วมปฏิบัติธรรม และตั้งโรงทานภายในวัดจำนวนมากนับร้อยแห่ง ทั้งนี้ เพื่อถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และทายกทายิกา และประชาชนที่เดินทางมากราบเคารพศพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ตลอดปี 2535
ปี พ.ศ.2536 ความต่อเนื่องจากปี 2535 ซึ่งคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ ทั้งในและต่างประเทศ ได้มารวมตัวกันเพื่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติตนเพื่อถวายอาจริยบูชา โดยร่วมกันสร้างเจดีย์ (เมรุ) ที่จะประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งแล้วเสร็จตามกำหนด ในส่วนหนึ่ง พระจากวัดสาขาต่างประเทศ (พระฝรั่ง) พำนักที่วัดป่านานาชาติ และร่วมปฏิบัติธรรม รวมทั้งชาวต่างประเทศที่บวชชี นุ่งขาว ห่มขาว ในสัปดาห์ปฏิบัติธรรม และพิธีพระราชทานเพลิงศพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
วันที่ 16 มกราคม 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี พระราชทานเพลิงศพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาที่ประทับ ณ ลานเจดีย์ด้านทิศใต้ เวลาประมาณ 15:45 น. โดยมี ร้อยตรีไมตรี ไนยกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ถวายรายงาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ ทายาทายิกา และประชาชน จำนนมากนับพันนับนับหมื่น ได้นั่งรายรอบเจดีย์ภายในวัดหนองป่าพง เพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยการจัดระเบียบและเตรียมการตั้งแต่ภาคเช้า และทางสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดให้มีการถ่ายทอดทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และในส่วนของวัดหนองป่าพง ได้มอบหมายให้ นายไพบูลย์ เพิ่มพูล ศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี และ นายปัญญา แพงเหล่า นักประชาสัมพันธ์ เป็นช่างบันทึกภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว โดยบันทึกภาพกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ ปี 2535 และงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 16 มกราคม 2536 และได้มอบภาพ ฟีล์ม ม้วนวิดีโอให้วัดหนองป่าพง เพื่อรวบรวมใช้ประโยชน์
พระบารมีปกเกล้าฯ ชาวอุบลราชธานี ใน ปี พ.ศ.2563 วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดหนองป่าพง และทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทั้งภายในและนอกวัดหนองป่าพง ยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้
วิวัฒนาการ และ ความเจริญรุ่งเรืองด้านการเผยแผ่พระศาสนาของวัดสาขา และศิษยานุศิษย์ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ส่งผลให้เป็นรูปธรรม โดยมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์พระภิกษุสายวัดหนองป่าพงหลายรูปตามลำดับ และขอนำเรียนเพื่อทราบ (บางส่วน) ดังนี้
ในราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระราชภาวนาวิกรม เป็น พระเทพวชิรญาณ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถิต ณ วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ “พระเทพญาณวิเทศ” ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรญาณ ไพศาลวิเทศศาสนกิจ วิจิตรธรรมปฏิภาณวิปัสสนาญาณวงศวิสิฐ ราชมานิตวชิราลงกรณ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดอมราวดีสหราชอาณาจักร
พระพรหมวชิรญาณ นามเดิม โรเบิร์ต คาร์ แจ็คแมน สุเมโธ หรือ พระอาจารย์สุเมโธ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฎฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นพระเถระสายพระป่าในประเทศไทย ศิษย์ชาวตะวันตกรูปแรกของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ประเทศไทย และเจ้าอาวาสวัดอมราวดี ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และเป็นผู้นำรูปสำคัญในการเผยแพร่คำสอนเรื่องอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนามาสู่สังคมชาวตะวันตก
พระราชโพธิวิเทศ มีชื่อเดิมว่า รีด แพรี เป็นพระภิกษุชาวแคนาดา ศิษย์รุ่นอาวุโสที่สุดของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง ในสหรัฐ และอาวุโสรองจากพระพรหมวชิรญาณ (โรเบิร์ต สุเมโธ) และพระภาวนาวิเทศ (อลัน อดัมส์ เขมธมฺโม) เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงปลายยุค พ.ศ.2540 ได้ย้ายไปจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสที่วัดป่าอภัยคีรี แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตลอด 40 ปีในสมณเพศ พระอาจารย์ปสันโนมีส่วนสำคัญในการฝึกของพระภิกษุมากมายทั้งในประเทศไทยและสหรัฐ
พระราชพุทธวรคุณ (อมโร ภิกฺขุ) มีชื่อเดิมว่า เจเรมี ชาลี จูเลี่ยน ฮอร์เนอร์ (J.C.J.Horner) เกิดเมื่อเดือน ก.ย. 2499 ณ เมืองเท็นเทอร์เดน เคนท์ ประเทศอังกฤษ อุปสมบทวันที่ 7 เม.ย. 2522 ณ พัทธสีมาวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเลี่ยม หรือปัจจุบัน คือ เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปภากโร วัดป่านานาชาติ อ.วารินชำราบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ในวันที่ 5 ธันวาคม 2558 วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ที่ พระวิเทศพุทธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ
และต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ที่ พระราชพุทธิวรคุณ
ในปัจจุบันวัดหนองป่าพง มีวัดสาขา จำนวน 197 สาขา สำนักสาขาสำรอง 45 สาขา และสาขาสำรวจ 23 สาขา และวัดสาขาต่างประเทศอีก 15 สาขา รวมทั้งสิ้น 279 แห่ง โดยมีสำนักสาขาต่างประเทศ ดังนี้ ที่ออสเตรเลีย 4 แห่ง ฝรั่งเศส 1 แห่ง อิตาลี่ 1 แห่ง สวิตเซอร์แลนด์ 1 แห่ง นิวซีแลนด์ 2 แห่ง อังกฤษ 5 แห่ง และสหรัฐอเมริกา 1 แห่ง
ในการจัดงานปฏิบัติธรรมจริยบูชา พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2567 คณะกรรมการวัดหนองป่าพง ได้ประชุมและมีกำหนดการปิดประกาศ และประชาสัมพันธ์ให้ญาติโยมรับทราบทั่วกัน ซึ่งมีพระภิกษุสามเณร จากวัดสาขาต่างๆ และญาติโยมเข้าร่วมปฏิบัติธรรม และตั้งโรงทาน รวมทั้งได้ทำบุญถวายเป็นอาจาริยบูชา รำลึก 32 ปี หลวงปู่ชาละสังขาร และได้บำเพ็ญกุศลเพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักธรรมและคำสอนอย่างยั่งยืนต่อไป.
……….
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน