นำเที่ยวชม...บ้านชีทวน ชุมชนนักปราชญ์ ดินแดนประวัติศาสตร์ล้ำค่า กราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล
บ้านชีทวน เป็นหมู่บ้านที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นเมืองเก่าและมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการศึกษา ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยการสืบสานประเพณีอันดีงามมาอย่างต่อเนื่อง และมีโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือ
1. วัดทุ่งศรีวิไล
2. วัดพระธาตุสวนตาล
3. วัดศรีนวลสว่างอารมณ์
4. ขัวน้อย : สะพานบุญ 200 ปี
ความสำคัญ : บ้านชีทวน คือ หมู่บ้านประวัติศาสตร์ มีโบราณสถาน และสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น วัดพระธาตุสวนตาล วัดทุ่งศรีวิไล มีพระพุทธวิเศษ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่อนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมทั้ง ขัวน้อย แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นในจังหวัดอุบลราชธานี
ด้านบุคคล : นักปราชญ์ และภูมิปัญญา บ้านชีทวน มีชื่อเสียงในการด้านการศึกษาโดยครอบครัว พ่อแม่ และชาวบ้านชีทวน มีการส่งเสริมให้บุตรหลาน ทั้งพระภิกษุ สามเณร ได้เรียนหนังสือและเรียนให้จบชั้นสูงที่สุด หรือจบปริญญา โดยส่งไปเรียนในเมือง ในกรุงเทพมหานคร และต่างประเทศ จนได้รับการยกย่องชื่นชมจากสังคมว่าเป็น “หมู่บ้านแห่งนักปราชญ์” และเป็นชุมชนในตำบลชีทวนที่มีนามสกุล “ธานี” มากที่สุดในประเทศไทย และเมื่อเรียนจบแล้วก็มีอาชีพทั้ง รับราชการ และการประกอบธุรกิจ ร่วมพัฒนาสังคมประเทศชาติมีชื่อเสียงจำนวนมาก
1.วัดทุ่งศรีวิไล ดินแดนแห่งธรรมะ แหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ มรดกล้ำค่าบ้านชีทวน ชุมชนนักปราชญ์ ประกอบด้วย
หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ มีพระพุทธชัยสิทธิ์ อยู่เบื้องขวา พระร่วงโรจนฤทธิ์ / พระสถูปเจดีย์ศรีวิไล ๓ ปาง / พระพุทธไสยาสน์ ปางปรินิพพาน ประดิษฐานที่วิหารคด / พิพิธภัณฑ์วงศ์แสงนาค และ โดมบรรจุวัตถุมงคลโบราณ / พระธาตุอัญญาท่านด้าน / วิหารพระครูคัมภีรวุฒาจารย์ (หลวงปู่หนู คัมภีโร) / วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม / เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา / ใบเสมาธรรมจักร / หมอชีวกโกมารภัจจ์ และ / มหาอุบาสิกาบุญเรือน โตงบุญเติม / วิหารลานโพธิ์ และพระพุทธเมตตามหามงคลอุดมทรัพย์ / หอไตรโบราณกลางน้ำ / พญามุจลินท์นาคราช / พระพิฆเนศร์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สาธุชนทั้งหลายมีความศรัทธา เคารพกราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต
ประวัติวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา ตั้งอยู่กลางทุ่งนา มีปูชนียวัตถุ ที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปศิลาแลง ปางนาคปรก ศิลปะสมัยขอม 2 องค์ มีนามว่า พระพุทธวิเศษ และ พระชัยสิทธิ์ และพระพุทธรูปยืน มีนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์
วัดทุ่งศรีวิไล ตั้งเมื่อ พ.ศ.2340 เดิมที่ดินที่ตั้งวัดนี้เป็นอุทยานของธิดาแห่งเจ้าเมืองชีชวน ชื่อว่า พระนางเจียงได บริเวณวัดมีใบเสมาหลายชั้นล้อมรอบอุโบสถ และวิหารหลังเก่าไปจนถึงกาแพงรอบวัด ทุกทิศ ตลอดทั้งสระน้ำใหญ่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งเป็นวัดอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรการได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2430 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร
ภายในวัด มีสถานที่สำคัญและโบราณสถาน มรดกทางวัฒนธรรม สถานที่ปฏิบัติธรรม และแหล่งเรียนรู้หลากหลาย
@ พระพุทธวิเศษ พระศักดิ์สิทธิโบราณ มรดกล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง
ประวัติและความเป็นมาตามที่คำเล่าขานเรื่องพุทธคุณของ “หลวงพ่อ พระพุทธวิเศษ” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มากของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับการกล่าวขานมาก คือ หากท่านผู้มีจิต ศรัทธาได้มากราบไหว้บูชาบนบานขอสิ่งใดมักจะประสบความสำเร็จโดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ อดีตเจ้าเมืองอุบลราชธานี พร้อมกับหม่อมเจียงคำ (พระชายา) ได้เสด็จโดยทางแม่น้ำชีเยี่ยมประชาชนที่บ้านชีทวนและหมู่บ้านใกล้เคียง และได้นำดอกไม้ธูป เทียน ทอง ไปสักการบูชาและขอพระโอรสและพระธิดาไว้สืบสกุลจากหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ จากนั้นไม่นานหม่อมเจียงคำ ก็ทรงมีพระครรภ์ และได้ประสูติพระโอรสและพระธิดา ๒ พระองค์ คือหม่อมเจ้าอุปลีสานและหม่อมเจ้ากมลีสาน ตามที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้บนบานเอาไว้
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ โดยมีเรื่องเล่าว่า ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยตามส่วนใดของร่างกาย ก็ให้มากราบไหว้ บนบานบอกกล่าวกับหลวงพ่อพระพุทธวิเศษแล้วนำแผ่นทองคำเปลวไปติดตามส่วนต่างๆ ขององค์พระ เช่น มีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ก็ให้นำแผ่นทองคำเปลวไปปิดที่หน้าอกขององค์พระ อาการเจ็บป่วยก็จะหายไป
ปัจจุบันนี้ ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ ได้เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในแต่ละปีนั้นก็จะมีผู้คนประชาชนทั่วทุกสารทิศเดินทางมากราบไหว้ขอพร เนื่องจากผู้คนที่มาขอพรนั้นได้สำเร็จสมดังความมุ่งสมประสงค์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี จึงมีความศรัทธาหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศิวิไล บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ใครผ่านมาผ่านไปก็จะเดินทางเข้าไปกราบไหว้ขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต
2. วัดพระธาตุสวนตาล มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ สถูปหรือเจดีย์พระธาตุสวนตาล ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ก่อด้วยอิฐฉาบด้วยพระทาย (การนำหินมาบดหรือตำให้ละเอียดผสมกับน้ำอ้อย ยางบงหนังควายแห้งเผาไฟ ผสมกันในหลุมดินแล้วตำให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน) จะมีคุณภาพคล้ายกับปูนซีเมนต์ รูปทรงเลียนแบบพระธาตุพนม ฐานกว้าง 30 ฟุต สูง 60 ฟุต
ประวัติการสร้างและเหตุการณ์ สร้างขึ้นมาราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 เป็นเวลาใกล้เคียงกับการสร้างพระธาตุพนม และการพังทลายขององค์พระธาตุก็ใกล้เคียงกัน คือพระธาตุสวนตาลพังทลายลงเมื่อ 23 กรกฎาคม 2518 เวลา 19.30 น. ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 (วันอาสาฬหบูชา) ส่วนพระธาตุพนมพังทลายเมื่อ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 17.00 น. ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ห่างกันเพียง 18 วัน นับเป็นเหตุการณ์ที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
พระธาตุสวนตาลได้รับการบูรณะซ่อมแซม โดยการสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบองค์เดิมไว้ พุทธศาสนิกชน ประชาชนทั่วไป สามารถกราบไหว้บูชาได้ตลอดเวลา
3. วัดศรีนวลสว่างอารมณ์
ตั้งอยู่ที่บ้านชีทวน จ.อุบลราชธานี กล่าวกันว่าชื่อของวัดตั้งตามชื่อของนางศรีนวล ซึ่งได้ถวายที่ดินให้สร้างวัด สิ่งสำคัญภายในวัด คือ ธรรมาสน์ที่มีลักษณะเป็นสิงห์ขนาดใหญ่เทินปราสาท สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะญวน ประดิษฐานอยู่ภายในหอแจกหรือศาลาการเปรียญ ที่ฝ้าเพดานมีจิตรกรรมแบบญวนที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและตะวันตก สวยงามและศิลปกรรมล้ำค่าแห่งเดียวในประเทศไทย
ภายในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกที่ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกและแตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไป สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2468–2470 ผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างเป็นช่างชาวญวน ส่วนการตกแต่งภายนอก ภายใน และรายละเอียดต่างๆ พระอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร บรมครูด้านศิลปะที่มีลูกศิษย์สืบสานงานต่อคือ ดร.คำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ ปี 2529 สาขาทัศนศิลป์ (การปั้นแกะสลัก)
ปัจจุบันธรรมาสน์สิงห์เป็นที่สำหรับให้พระสงฆ์นั่งเทศน์มหาชาติในงานบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ ส่วนที่ฝ้าเพดานของศาลาการเปรียญมีจิตรกรรมแบบญวน ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและตะวันตกสวยงามร่วมสมัยอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี
4. ขัวน้อย : สะพานบุญ 200 ปี บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นขัวที่ใช้สัญจรไปมา ระหว่าง หมู่ที่ 1 บ้านชีทวน และหมู่ที่ 7 บ้านหนองแคน ที่ชาวบ้านใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างหมู่บ้าน เดินทางไปทุ่งนา และมีวิถีชีวิตมากมาย แต่ไม่มีพระเดินมาบิณฑบาตและไม่มีการแบกศพข้ามไปแล้ว สืบเนื่องจากมีการสร้างถนนเพื่อให้เดินทางสะดวก
ปัจจุบันขัวน้อย ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางนิเวศวัฒนธรรมของบ้านชีทวน เมื่อยามที่ทุ่งนากลายเป็นสีเขียว หรือสีเหลืองทอง บริเวณขัวน้อยนั้นงดงามมาก เป็นจุดดึงดูดใจให้ผู้คนเข้าไปถ่ายภาพ และมีชื่อเสียงมากขึ้น จึงได้มีการจัดงานตักบาตรเทโว เป็นกิจกรรมประจำปี และมีประชาชนไปร่วมงานจำนวนมาก สร้างความงดงามตลอดแนวบนขัวน้อย สะพานบุญ สะพานแห่งมิตรภาพ ที่ควรจดจำตลอดไป
จากการสอบถามผู้รู้ในชุมชนสันนิษฐานว่า ขัวน้อยหรือสะพาน มีอายุประมาณกว่า 200 ปี ความกว้าง 1.40 เมตร ความยาว 271.50 เมตร สูงประมาณ 1.50 เมตร
@ พระธรรมวชิรสุธี (ทองดี ฐิตายุโก) ชาติภูมิเกิดที่บ้านมะพริก ต.ชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาส/เจ้าสำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม/ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต) และเป็นพระอุปถัมภ์เมตตาส่งเสริมพัฒนาวัดทุ่งวัดทุ่งศรีวิไล และชุมชนตำบลชีทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์สืบสานมรดกของบรรพบุรุษ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง (โครงการบ้านเกิดโรงเรียนเก่า) และนำพาชาวบ้านกลับมาพัฒนาบ้านเกิด วัด โรงเรียน(บวร) ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
จากวันวาน...ถึงวันนี้วัดทุ่งศรีวิไล ดินแดนประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม และจัดการศึกษาพัฒนา สถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนและสืบสานประเพณีอันดีงาม สู่ระดับนานาชาติ
@ บ้านชีทวน ชวนชี เป็นศรีบ้าน
สร้างคนดี ศรีอีสาน พิมานสมัย
สืบสายเลือด สายลำ แม่น้ำใจ
สะอาดใส เป็นศรี บ้านชีทวน @
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ
……………….
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
19 กุมภาพันธ์ 2567