กรมหม่อนไหม พร้อมเดินหน้ายกระดับคุณภาพเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม
พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย เผยว่า ในปี 2567 กรมหม่อนไหม พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายงานด้านหม่อนไหม โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเกษตรกรต้อง “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด” โดยตั้งเป้าในการให้ความสำคัญกับต้นน้ำด้วยการส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรายใหม่ ซึ่งมีมากกว่า 1,000 รายและฟื้นฟูเกษตรกรหม่อนไหมรายเดิมโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน หรือ สปก. และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(ค.ท.ช.)
ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมและพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์หม่อนไหมและเส้นไหมให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร มีการส่งเสริมให้ผลิตเส้นไหมและผ้าไหมที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน พร้อมกันนี้ยังเร่งเพิ่มประสิทธิภาพปัจจัยการผลิตพันธุ์หม่อน และไข่ไหมให้มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น และพอเพียงต่อความต้องการของเกษตรกร พร้อมไปกับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหม่อนไหม
ตลอดจนสนับสนุนและขยายผลโครงการพระราชดำริหม่อนไหมไปสู่ชุมชนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และประกอบอาชีพในถิ่นฐานของตนเองรวมถึงส่งเสริมและแสวงหาตลาดผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมให้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศไปพร้อมกันกับการสร้างผ้าไหมให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง ด้วยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยเกษตรกรโดยใช้หลัก ”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
ในส่วนการทำตลาดนั้นก็มีการร่วมมือกับภาคเอกชนส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญาระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน ควบคู่กับการเร่งสร้างเกษตรกรรายใหม่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเส้นไหม รังไหม และเชื่อมโยงการตลาดเฉพาะ อาทิ สถาบันเสริมความงามโรงพยาบาล อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์
ส่วนนวัตกรรมเสริมจะมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์หม่อนไหมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าและเพิ่มมูลค่ารวมถึงการให้บริการแก่เกษตรกรได้อย่างพอเพียงพร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้ ผ่านระบบการจัดการความรู้และพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรับรองเกษตรกรสูงวัย ขณะเดียวกันก็วางแผนผลิตไหมวัยอ่อนให้เกษตรกรเพื่อลดขั้นตอน เวลาและแรงงาน
ส่วนแนวทางเพิ่มรายได้ทางกรมหม่อนไหม จะสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรได้มีทางเลือกใหม่ๆ โดยขยาย value change ของสินค้าหม่อนไหม เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์แปรรูปกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการประสานความร่วมมือกับจังหวัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการเชื่อมโยงสินค้าและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมในเส้นทางท่องเที่ยวต่อไป.