เกณฑ์อายุเด็กหรือเยาวชนเมื่อถูกจับในคดีอาญา
จับกุมเด็กและเยาวชน ต้องคำนึงถึงเกณฑ์อายุต่ำกว่า 12 – 18 ปี | รับ VS ไม่รับโทษ? กระบวนการและขั้นตอนในการจับกุมเด็กและเยาวชนนั้น มีความแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้เมื่อจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ โดยกฎหมายหลักที่ใช้ คือ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พุทธศักราช 2565
เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา
เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชน (อายุต่ำกว่า 12 – 18 ปี) กำหนดให้ “ตำรวจ” ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ หลังจากนั้นก็ให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทำการสอบสวนสอบปากคำ ดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย และให้ ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ถูกจับไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
| อายุต่ำกว่า 12 ปี
พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) จะต้องดำเนินการ
– สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก
– จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหาย
| อายุ 12 – 15 ปี
– แจ้งผู้ปกครอง และแจ้งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อสืบเสาะและจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูส่งให้ตำรวจ/อัยการ/ศาล ภายใน 30 วัน
– นำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชั่วโมง
– ศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี กรณีศาลฯ เห็นว่ายังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนปล่อยตัวชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน) ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา/ฝึกอบรมมอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคล/องค์กรที่ศาลเห็นสมควร หรือกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามภานในระยะเวลาที่กำหนด
| อายุ 15 – 18 ปี
– กรณีศาลฯ เห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาชนอายุ 12 – 15 ปี
– กรณีศาลฯ เห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ : ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญาหรือสั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)
ข้อควรรู้ : ถึงแม้เด็กและเยาวชนแม้ไม่ได้รับโทษอาญาแต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่งโดยพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พุทธศักราช 2565 ฉบับนี้ คือ
ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็ก ซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ที่ “อายุยังไม่เกิน 10 ปี” แต่จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าเด็กอายุ 12 ปี กับ เด็กอายุ 10 ปี ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญาจริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และ ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ
อีกทั้ง เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี อยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก ดังนั้น จึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 12 ปี ได้รับผลดีมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุด ของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากร ที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้
ประกอบกับการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดจากอายุยังไม่เกิน 10 ปี เป็นอายุยังไม่เกิน 12 ปี เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 10 (ค.ศ. 2007) (General Comment No. 10 (2007) Children’s rights in juvenile justice) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRc) และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่น โดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ.2559 ถึง พ.ศ. 2563)
Cr.สำนักงานกิจการยุติธรรม