รายงานพิเศษ : สายสัมพันธ์การศึกษาไทย-ลาว 2542
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตชายแดน ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว และ กัมพูชา “มีสามเหลี่ยมมรกต” ในท้องที่อำเภอน้ำ เป็นที่ตั้งศาลาตรีมุข คือ “ไทย-ลาว กัมพูชา” รอยต่อแห่งสันติภาพของ 3 ประเทศ
นอกจากนี้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีมายาวนาน และเชื้อชาติภาษาก็มีสำเนียงคล้ายคลึงกัน สื่อสารกันได้โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล คือ ไทย ลาว ในอดีตถึงปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ก็รักใคร่นับถือกัน มีความเกี่ยวดองกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเปิดพรมแดนมีการค้าขาย ไปมาหาสู่กันสะดวกที่ด่านสากลวังเต่า ช่องเม็ก อำเภอสิรินธร มีความใกล้ชิดและมิตรภาพด้วยดีตลอดมา
สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี (สปจ.) ได้จัดทำโครงการ และขออนุมัติเดินทางไปศึกษาดูงานการศึกษาและวัฒนธรรมที่ สปป.ลาว โดยมีนาย ประสงค์ มากนวล ผอ.ปจ.อุบลราชธานี, นายประสิทธิ์ โพธิ์มั่น, นายธีระวุฒิ เจริญราษฎร์ ผช.ผอ.ปจ., นายปิยะศักดิ์ เกษมศิลป์ หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทสก์ สปจ.อุบลราชธานี พร้อมด้วยหัวหน้า การประถมศึกษาอำเภอ/กิ่งอำเภอ และคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด (กปจ.) คณะกรรมการอนุกรรมการข้าราชการครูสามัญประจำจังหวัด (อ.ก.ค.) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวม 60 คน โดยมี นายสุมิตร เสนสม ศึกษานิเทศก์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และดำเนินการตามขั้นตอน โดยขอบัตรผ่านแดนชั่วคราว จากสำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี
ความสำคัญ : ในระหว่างวันที่ 1-10 มีนาคม 2542 กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว ได้ส่งคณะผู้บริหารการศึกษา และครูประถมศึกษา จากเวียงจันทน์ แขวงเซกอง, แขวงอัตตะบือ เข้ามาศึกษาดูงานการจัดการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ครบวงจรในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยถือเอาความคล้ายคลึงกันในเรื่องพื้นที่ ภาษา และวัฒนธรรมเป็นแนวทางในการศึกษาดูงาน และเมื่อคณะผู้บริหารและครู สปป.ลาว กลับไปแล้ว ได้มีการประสานงานและเชิญให้คณะผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษาดูงานที่ สปป.ลาว(ลาวใต้) ที่แขวงจำปาศักดิ์ แขวงอัตตะปือ เพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับ สปป.ลาวให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืน
สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี(สปจ.) จึงได้ดำเนินการโครงการโดยจัดอบรมสัมมนาให้ผู้ร่วมโครงการจำนวน 60 คน ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 และกำหนดเดินทางไปศึกษาดูงานระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2542 โดยใช้พาหนะรถตู้ 6 คัน และออกเดินทางตามลำดับ ดังนี้
วันที่ 30 พฤษภาคม 2542 คณะผู้บริหาร สปจ.อุบลราชธานี เดินทางผ่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร ถึงชายแดน ด่านตรวจคนเข้าเมือง ยื่นหนังสืออนุญาตผ่านแดน และชำระค่าธรรมเนียม ขณะเดียวกัน บรรดาผู้บริหารการศึกษาของไทยก็ได้แลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อนำไปใช้จ่าย อัตราค่าแลกเปลี่ยน 1 บาท แลกได้ 210 กีบ ก็มีเงินกันคนละหลายแสนภายในพริบตา
คณะของเราเดินทางจากด่านวังเต่า ไปปากเซ โดยนำรถยนต์ไปลงท่าแพขนานยนต์ บ้านห้วยเพ็ก เมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ เพื่อข้ามแม่น้ำโขงไปเมืองปากเซ (แขวงเซโดนเก่า) พอถึงเวลาอาหารมื้อเที่ยงที่ร้าน อาหารหมายเลข 9 ทุกคนอร่อยกับรสชาติปลาน้ำจืดจากลำเซโดน และจากแม่น้ำโขง หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว คณะเราเดินทางต่อ โดยออกจากเมืองปากเซ เวลา 14.00 น. มุ่งหน้าสู่แขวงอัตตะปือ โดยผ่านเมืองปากช่อง ระยะทางกว่า 100 กม.
สภาพเส้นทางค่อนข้างลำบาก เพราะอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ที่สำคัญบริเวณสองข้างทางมีแต่ป่าไม้และภูเขา ไม่มีหมู่บ้านตลอดการเดินทางทุกคนตื่นเต้นกับสภาพธรรมชาติ และกลัวส่วนหนึ่ง หากมีอะไรเกิดขึ้น แต่คณะพวกเราก็ผ่านเส้นทางที่ลำบากไปได้โดยมีรถขับเคลื่อนสี่ล้อคอยนำทาง และลากจูงเป็นบางครั้ง กว่าจะถึงแขวงอัตตะปือ เกือบสามทุ่ม ซึ่งมีรองเจ้าแขวงและศึกษาแขวง พร้อมคณะครูและเจ้าหน้าที่ คอยต้อนรับที่ห้องอาหาร “สายเซกะหมาน” และ มีดนตรี-อาหารแบบพื้นเมือง ให้พวกเราได้รับประทาน จนถึงสี่ทุ่ม โรงไฟฟ้าเมืองนี้เขาปิดทันที ทุกคนต้องแยกย้ายกันเข้าที่พักอาศัยแสงเทียนในการทำธุระส่วนตัว แล้วพักนอนหลับสบายทุกคน
รุ่งขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 หลังอาหารเช้ามีข้าวต้ม และกาแฟ ขนมปัง พวกเราได้เข้าเยี่ยมชมสำนักงานศึกษาธิการแขวงอัตตะปือ โดยมีท่านถาวร นามวงศ์ ศึกษาธิการแขวงบรรยาย สรุป และให้การต้อนรับ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ แขวงอัตตะปือ (เทียบเท่าจังหวัด) เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของ สปป.ลาว มีพื้นที่ 11,000 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีท่านคำเกิด เงิน คำ เป็นเจ้าแขวง มีประชากร 903,000 คน อาชีพส่วนใหญ่ทำนา ทำไร่ มีชาวพื้นเมือง 13 ชนเผ่า และพูดภาษาลาวได้ ส่วนที่เหลือเป็นภาษาถิ่น ลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าไม้ และภูเขา 800,000 ไร่ มี 208 หมู่บ้าน โรงเรีนประถมศึกษา 196 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา 9 แห่ง นักเรียน ชั้นประถมศึกษาจำนวน 15,082 คน มัธยม 2,438 คน ครูทั้งหมด 729 คน รายได้เฉลี่ยของประชากร ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 4-5 พันกีบ/คน/ปี
ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนอนุบาล ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงเรียนประถมเซกอง และโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์จันทา สภาพของโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง เป็นโรงเรียนที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซมขึ้นมาไม่นาน เนื่องจากเคยอยู่ในสภาวะสงคราม บริเวณโรงเรียนเคยโดยระเบิดถล่มแหลกลาญมาแล้ว ต้องฟื้นฟูมาใหม่จนสามารถเป็นสถานศึกษาในปัจจุบัน
สภาพปัญหาทั่วไปของโรงเรียน เด็กนักเรียนทุกระดับค่อนข้างเคร่งในชาตินิยม ในการปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ มีการเข้าแถวปรบมือต้อนรับคณะพวกเรา และกล้าพูดกล้าคุย ทั้งนี้อุปกรณ์และสื่อการสอนไม่มีเหมือนเรา แต่ความพยายามของครูมีสูงมาก แม้จะได้รับคำตอบแทนเงินเดือนครูบรรจุครั้งแรกประมาณ 80,000 กีบ หรือ 200-250 บาท/เดือนเท่านั้น ขึ้นสูงสุดไม่เกิน 200,000 กีบ หรือ 1,000 บาท หลังจากรับฟังบรรยายสรุปทั้ง 3 โรงเรียนแล้ว คณะของเราก็ร่วมกันบริจาคเงินสมทบกองทุนชั้นอนุบาลและมอบของที่ระลึกให้กับผู้ บริหารโรงเรียน คือ ผอ.คำเงิน ชานุวงค์ ซึ่งได้กล่าวต้อนรับและดีใจ ขอบใจที่มีคณะจาก สปจ.อุบลราชธานีไปเยี่ยมเยือน ซึ่งคณะนี้เป็นคณะที่สองจากประเทศไทย ส่วนคณะแรกเป็นขบวนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเคยเสด็จฯ เมื่อหลายปีมาแล้ว นับเป็นความภูมิใจของชาวอัตตะปือ
จากสถานศึกษาก็ไปที่วัดใหม่ในเมืองอัตตะปือ เพื่อกราบนมัสการเจ้าคณะแขวง และร่วมทำบุญกุศลตามประสาชาวพุทธ และไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารริมฝั่งเซกอง บรรยากาศคล้ายกับแม่น้ำมูลบ้านเรา เป็นอาหารพื้นเมือง และอาหารป่า คณะเราเสร็จสิ้นภารกิจ จึงออกเดินทางกลับเมืองปากเซ และตามกำหนดเดิมจะผ่านเขวงเซกอง และข้ามแพที่เซกอง แล้วตรงเข้าปากช่อง ซึ่งเป็นทางลัด แต่สภาพวันนั้นฝนตกตลอดทาง สภาพถนนไม่สะดวก ท่านคำเพชร ขันมณี ผู้ช่วยศึกษาแขวงอัตตะปือ ผู้ประสานงาน จึงนำคณะเรากลับตามเส้นทางเดิม จนถึงเมืองปากเซเกือบสามทุ่ม แยกย้ายกันเข้าที่พักโรงแรมจำปาสักพาเลซ และโรงแรมจำปาเรซิเด็นท์
ในราตรีที่เมืองปากเซก็มีบรรดาผู้บริหารบางกลุ่มออกตระเวนเมืองปากเซตามอัธยาศัย และสัมผัสกับรสชาติอาหารเมืองท่องเที่ยว ซึ่งสะดวก สะอาด และสนุกสนาน แบบราคาประหยัด ถึงเวลา 6 ทุ่ม ร้านอาหาร บาร์ ปิดทันที เหยี่ยวราตรีทั้งหลายกลับที่พักด้วยความปลอดภัยทุกคน
รุ่งเช้าวันที่ 1 มิถุนายน 2542 คณะของเราเดินทางไปที่วิทยาลัยครูปากเซ โดยมีท่านศรีบุญเฮือง เวียนเฮืองไผ่ เป็นผู้อำนวยการ พร้อมคณะครู นักศึกษาให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปภารกิจหลักให้ทราบว่า ปัจจุบันวิทยาลัยครูปากเซ มีครู-อาจารย์ 48 คน นักศึกษา 460 คน เปิดสอนระดับอนุปริญญา รับนักเรียนที่จบ ม.ต้น เข้าเรียนครู 1 ปี แล้วออกไปสอนได้ โดยมีความรับผิดชอบในเขตท้องที่แขวงจำปาศักดิ์ แขวงสาละวัน แขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ การพัฒนาครูยังอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลไทยให้ทุนแลกเปลี่ยน ยกระดับความรู้ ครู-อาจารย์ และมีหลายท่านจบจากวิทยาลัยครูหรือสถาบันราชภัฏ ในประเทศไทยทั้งวุฒิประกาศนียบัตร และปริญญาตรี นี่คือเส้นทางการพัฒนาการศึกษา และทรัพยากรบุคคล สปป.ลาว ยุค 2000 นับเป็นการจุดประกายและสร้างสายสัมพันธ์อันดีของหน่วยงานและบุคลากรด้านการศึกษาของไทยกับ สปป.ลาว ให้มีความแน่นแฟ้นและร่วมมือพัฒนาการศึกษาให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
หลังเสร็จสิ้นการทัศนศึกษาดูงานแล้ว คณะของเราเดินทางกลับเส้นทางเดิม ผ่านทางช่องเม็ก ถึงสปจ.อุบลราชานี เวลา 17.00 น. โดยสวัสดิภาพ นับเป็นหน่วยงานทางการศึกษาของไทย และ สปป.ลาว กลุ่มแรกๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์อันดี เพื่อสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติให้มีความมั่นคงตลอดไป.
…………..
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
10 มิถุนายน 2542