รายงานพิเศษ : คณะศิษยานุศิษย์ วัดหนองป่าพง ปฏิบัติธรรมอาจริบูชา น้อมรำลึก 33 ปี หลวงปู่ชา สุภัทโท

   เมื่อ : 14 ม.ค. 2568

           ความสำคัญ : นับจาก ปี 2535 - 2568 เป็นระยะเวลา 33 ปี ที่พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ได้ละสังขารไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2535 ซึ่งจากไปในวันครู และคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ได้จัดงานปฏิบัติธรรมอาจริยบูชา ระหว่างวันที่ 12 - 17 มกราคม ของทุกปี 

           ในปี พ.ศ.2535 นับเป็นปีที่มีความสำคัญมากที่มีคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ สายวัดหนองป่าพง ทั้งในประเทศและสาขาต่างประเทศ ได้มารวมกันปฏิบัติธรรม และถวายเป็นอาจริยบูชา รวมทั้งการสร้างเจดีย์ที่จะประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)

            นอกจากการมารวมตัวของศิษยานุศิษย์สายวัดหนองป่าพงแล้ว ยังมีพระเถรานุเถระ และญาติโยมจากทั่วประเทศมาร่วมปฏิบัติธรรม และตั้งโรงทานภายในวัดจำนวนมากนับร้อยแห่ง ทั้งนี้ เพื่อถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และทายกทายิกา และประชาชนที่เดินทางมากราบเคารพศพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ตลอดปี 2535 

            ปี พ.ศ.2536 ความต่อเนื่องจากปี 2535 ซึ่งคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ ทั้งในและต่างประเทศได้มารวมตัวกันเพื่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติตนเพื่อถวายอาจริยบูชา โดยร่วมกันสร้างเจดีย์ (เมรุ) ที่จะประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งแล้วเสร็จตามกำหนด ในส่วนหนึ่ง พระจากวัดสาขาต่างประเทศ (พระฝรั่ง) พำนักที่วัดป่านานาชาติ และร่วมปฏิบัติธรรม รวมทั้งชาวต่างประเทศที่บวชชี นุ่งขาว ห่มขาว ในสัปดาห์ปฏิบัติธรรม และพิธีพระราชทานเพลิงศพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) 

            วันที่ 16 มกราคม 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาที่ประทับ ณ ลานเจดีย์ด้านทิศใต้ เวลาประมาณ 15:45 น. โดยมี ร้อยตรีไมตรี ไนยกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ถวายรายงาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

            สำหรับคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ ทายกทายิกา และประชาชนจำนวนมากนับหมื่นนับแสน ได้นั่งรายรอบเจดีย์และภายในวัดหนองป่าพง เพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ และร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยการจัดระเบียบและเตรียมการตั้งแต่ภาคเช้า และทางสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดให้มีการถ่ายทอดทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และในส่วนของวัดหนองป่าพง ได้มอบหมายให้ นายไพบูลย์ เพิ่มพูล ศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี และ นายปัญญา แพงเหล่า นักประชาสัมพันธ์ เป็นช่างบันทึกภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว โดย บันทึกภาพกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ปี 2535 และงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 16 มกราคม 2536 และได้มอบภาพ ฟิล์ม ม้วนให้วัดหนองป่าพง เพื่อรวบรวมใช้ประโยชน์ตามลำดับ

            พระบารมีปกเกล้าฯชาวอุบลราชธานี ใน ปี พ.ศ.2563 วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดหนองป่าพง และทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทั้งภายในและนอกวัดหนองป่าพงยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้

           ความเจริญรุ่งเรืองด้านการเผยแผ่พระศาสนาของวัดสาขา และศิษยานุศิษย์ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ส่งผลให้เป็นรูปธรรม โดยมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ในรอบสามทศวรรษ จำนวน 3 รูป ดังนี้

          1. วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ “พระเทพญาณวิเทศ” ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรญาณ ไพศาลวิเทศศาสนกิจ วิจิตรธรรมปฏิภาณวิปัสสนาญาณวงศวิสิฐ ราชมานิตวชิราลงกรณ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดอมราวดีสหราชอาณาจักร 

            พระพรหมวชิรญาณ นามเดิม โรเบิร์ต คาร์ แจ็คแมน สุเมโธ หรือ พระอาจารย์สุเมโธ เป็นพระราชาคณะ​เจ้าคณะ​รอง​ชั้น​หิรัญ​บัฎฝ่ายวิปัสสนา​ธุระ​ เป็นพระเถระสายพระป่าในประเทศไทย ศิษย์ชาวตะวันตกรูปแรกของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ประเทศไทย และเจ้าอาวาสวัดอมราวดี ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และเป็นผู้นำรูปสำคัญในการเผยแพร่คำสอนเรื่องอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนามาสู่สังคมชาวตะวันตก

           2. พระพรหมพัชรญาณมุนี ได้ยื่นเรื่องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยต่อกระทรวงมหาดไทย กระทั่งวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นกรณีพิเศษแก่พระพรหมพัชรญาณมุนีด้วยเหตุผลที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ได้เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย แตกฉานในพระธรรมคำสอน มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ กับเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติมาก่อน ถือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์เป็นพิเศษต่อประเทศไทย และพระพุทธศาสนา และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต) เมตตาตั้งนามสกุลภาษาไทยว่า’โพธานุวัตน์’ นับเป็นพระต่างประเทศสายวัดหนองป่าพงรูปแรกที่แปลงสัญชาติ

            3. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์ พระเทพวชิรญาณ วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ขึ้นเป็น พระราชาคณะ

            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา สมควรจะได้เลื่อนอิสริยฐานันดรในสมณศักดิ์สูงขึ้นมีอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา ”พระเทพวชิรญาณ” ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า ”พระพรหมวชิรญาณโสภณ” วิมลสีลาจารนิวิฐ วิปัสสนานุสิฐคณาจารย์ไพศาลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี 

            นอกจากนี้ ยังมีศิษยานุศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทาน สัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์พระภิกษุสายวัดหนองป่าพงอีกหลายรูป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพระพุทธศาสนาอย่างหาที่สุดมิได้

            ในการจัดงานปฏิบัติธรรมอาจริยบูชาปี 2568 มีคณะศิษยานุศิษย์จากวัดสาขาทั้งในและต่างประเทศ เดินทางมาร่วมปฏิบัติธรรมและได้แสดงพระธรรมเทศนา ทั้งภาคเช้า ภาคกลางคืน โดยนำหลักธรรมคำสอนของหลวงปู่ชา สุภัทโทไปปฏิบัติ ประกอบด้วย

            พระพรหมวชิรญาณโสภณ (เลี่ยม ฐิตธมโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง พระราชโพธิวิเทศ (รีด ปสนโน) วัดป่าอภัยคีรี สหรัฐอเมริกา พระครูโพธิสารคุณวัฒน์ (บุญชู ฐิตคุโณ) พระครูภาวนาอุดมคุณ (โสภา อุตตโม) พระอธิการจันดี กันฺตสาโร พระครูวิเวกธรรมานุกูล (ฉันท์ กตปุญโญ) พระครูบรรพตวรกิจ (บุญมี ปิยธมโม) พระอธิการวิจิตร อภิปุญโย และ พระครูสุธรรมประโชติ (คำผอง ฐิตปุญโญ) ซึ่งจะนำกล่าวในพิธีถวายสักการะ ณ เจดีย์พระโพธิญาณเถรในวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี 

            ปัจจุบัน วัดหนองป่าพง มีวัดสาขา จำนวน 197 สาขา สำนักสาขาสำรอง 45 สาขา และสาขาสำรวจ 23 สาขา และวัดสาขาต่างประเทศอีก 15 สาขา รวมทั้งสิ้น 279 แห่ง โดยมีสำนักสาขาต่างประเทศ ดังนี้ ที่ออสเตรเลีย 4 แห่ง ฝรั่งเศส 1 แห่ง อิตาลี่ 1 แห่ง สวิตเซอร์แลนด์ 1 แห่ง นิวซีแลนด์ 2 แห่ง อังกฤษ 5 แห่ง และสหรัฐอเมริกา 1 แห่ง 

            ในการจัดงาน ปฏิบัติธรรมจริยบูชา พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ระหว่างวันที่ 15 - 17 มกราคม 2568 คณะกรรมการวัดหนองป่าพง ได้ประชุมและมีกำหนดการปิดประกาศ และประชาสัมพันธ์ให้ญาติโยมรับทราบทั่วกัน ซึ่งมีพระภิกษุสามเณร จากวัดสาขาต่างๆ และญาติโยมเข้าร่วมปฏิบัติธรรม และตั้งโรงทาน รวมทั้งได้ทำบุญถวายเป็นอาจาริยบูชา รำลึก 33 ปี หลวงปู่ชาละสังขาร และได้บำเพ็ญกุศลเพื่อความเป็นสิริมงคลในการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักธรรมและคำสอนและพัฒนาคุณภาพชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขต่อไป

       ……….

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

       14 มกราคม 2568