๒๔ กันยายน “วันมหิดล” รำลึกพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

   เมื่อ : 23 ก.ย. 2566

          สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจาก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก ให้ทรงเป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก (ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีวันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕)

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชการที่ ๙) ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชอนุสาวรีย์ซึ่งควบคุมงานสร้างโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวที และเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณให้ไพศาล เป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่นหลังได้เจริญตามรอยพระยุคลบาทสืบไป ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นต้นมา ทุกวันที่ ๒๔ กันยายน จึงถือว่าเป็น “วันมหิดล” ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดงานโดยมีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นประจำทุกปี

          สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๔ ปีเถาะ ในพระบรมราชวัง ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๗ ของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อีกทั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชการที่ ๙)

          สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาทรงเดินทางไปศึกษาต่อวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมัน จากนั้นเสด็จกลับเข้ามารับราชการในกองทัพเรือ และด้วยเหตุที่พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงได้ทรงลาออกจากราชการทหารเรือ เพื่อศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพระราชดำรัสก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ต่อที่ต่างประเทศว่า

          “ฉันจะไปเรียนหมอหละ เพราะเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจนคนมั่งมี และเจ้านายต่างๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศล ในการรักษาพยาบาลได้ดี เมืองไทยเราถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้าง เขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่รักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน”

          ด้วยความที่ทรงพระอุตสาหะพรากเพียรเพื่อหวังนำมวลความรู้กลับมาพัฒนาประเทศไทย การเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับ “นางสาวสังวาล ตะละภัฏ” ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ วังสระปทุม ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๓ พระองค์ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชการที่ ๘) และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชการที่ ๙)

          พระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยนั้น มากมายเหลือคณานับ โดยตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศในกาลต่อมา

            สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) คือ พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ ขณะที่พระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา ๘ เดือน ๒๓ วัน

           เนื่องใน ๒๔ กันยายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ถือเป็น “วันมหิดล” ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งปวง ต่างร่วมรำลึกถึงคุณประโยชน์ที่พระองค์ได้ทำไว้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ.

                                                                                               โดย...ธนกฤต วงษ์พรต