อุบลฯ ร่วมเครือข่ายดาราศาสตร์ เชิญร่วมกิจกรรมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ 14 ธันวาคม 2566 พร้อมกัน 7 จุด อุบลราชธานี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้คาดหมายในคืนวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ประกอบกับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ได้รับการประกาศเป็นเขต ”อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” ถึง 2 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติผาแต้มและวนอุทยานน้ำตกผาหลวง
โอกาสนี้ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และประธานเครือข่ายดาราศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Astronomy NetworkSEAAN จะได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมสังเกตการณ์ฝนดาวตก ณ จังหวัดอุบลราชธานี ในคืนวันพฤหัสที่ 14 ธันวาคม 2566 พร้อมพี่น้องชาวอุบลฯ จังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมชม เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ร่วมกัน โดยได้จัดกิจกรรมและวิทยากรนำการชมฝนดาวตก ทั้ง 7 จุด ได้แก่
1.อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม
2.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ
3.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี อ.เมืองอุบลราชธานี
4.วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อ.ศรีเมืองใหม่
5.อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร(ผามออีแดง) อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
6.หาดชมดาว อ.นาตาล
7.บริเวณต้นจามจุรียักษ์ ปากบ้อง อ.โพธิ์ไทร
ขอชวนพี่น้องประชาชนชวนครอบครัวลูกหลานและเพื่อนๆ ได้มาชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ในคืนวันพฤหัสที่ 14 ถึงรุ่งเช้า วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 เริ่มสังเกตได้เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า คาดว่าจะมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดช่วงหลังเที่ยงคืน ประมาณ 120-150 ดวงต่อชั่วโมง โดยปีนี้เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่งเนื่องจาก เป็นคืนที่ไร้แสงจันทร์สามารถชมได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่โล่ง และมืดสนิท ปราศจากแสงรบกวน
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนเข้าผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่น ขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) หลงเหลือทิ้งไว้ ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านสายธารดังกล่าว แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเหล่านั้นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ปรากฏให้ผู้สังเกตการณ์บนโลกเห็นเป็นลำแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball ซึ่ง “ฝนดาวตก” จะแตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ.