ครม.ไฟเขียว มาตรการช่วยเหลือชาวนา และเกษตรกรไร่อ้อย

   เมื่อ : 17 พ.ย. 2566

            ที่ประชุม ครม. ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานประชุม มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกร 2 เรื่อง ได้แก่ ข้าวและน้ำตาล

ครม.เห็นชอบจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 1,000 บาท

            ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/2567 (เพิ่มเติม) ตามที่คณะกรรมการบริหารและจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) เสนอมาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนา (ค่าเก็บเกี่ยวข้าว) ไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท

• กลุ่มเป้าหมาย - เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ 

• วิธีการ - กรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกร ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2566/2567 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานใหญ่ (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

            ทั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทันทีหลังมีมติออกไป คาดว่าจะดำเนินโครงการได้ภายในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ หรือสามารถจ่ายเงินได้ช้าที่สุดไม่เกิน 1 เดือน

ครม.เห็นชอบขึ้นราคาน้ำตาลทราย 2 บาท ต่อ ก.ก.

            ครม.มีมติเคาะขึ้นราคาน้ำตาล 2 บาท ตามต้นทุนที่มีการปรับตัว ส่วนอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ครม.ยังไม่อนุมัติ โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันก่อน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว 

            เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ครม. มีมติเห็นชอบให้น้ำตาลทราย เป็นสินค้าควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชนและทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม ขนมหวาน ที่อาจมีการปรับขึ้นราคา โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย 2566 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ออกประกาศ กำหนดมาตรการ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 

1. ควบคุมราคาน้ำตาลทรายทรายขาวธรรมดา และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 19 - 20 บาท/กก. 

2. การกำหนดแนวทางควบคุมการส่งออกตั้งแต่ 1,000 กก. ขึ้นไป

            อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 พ.ย 2566 ได้มีการประชุมหารือกับตัวแทนชาวไร่อ้อย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้มีปริมาณที่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ มีราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมต่ประชาชนผู้บริโภค โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อย ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมเป็นธรรม 

ปรับราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน กิโลกรัมละ 2 บาท 

- น้ำตาลทรายขาว เดิมกิโลกรัมละ 19 บาท ปรับเป็น 21 บาท

- น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เดิมกิโลกรัมละ 20 บาท ปรับเป็น 22 บาท

            อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม ครม. คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับเดิม 

            ทั้งนี้ น้ำตาลทราย ยังคงเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และ กกร. จะออกประกาศฉบับใหม่ กำหนดเพียงราคาหน้าโรงงานเท่านั้น ที่ 21 - 22 บาท/กก. ตามมติ ครม. ที่ให้ปรับขึ้น 2 บาท/กก. ส่วนราคาขายปลีกไม่ได้กำหนด แต่ผู้ค้าจะต้องขายในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน และในส่วนของการส่งออก ไม่ต้องขออนุญาตกรมการค้าภายในแล้ว เพียงแค่ให้แจ้งปริมาณส่งออก และปริมาณน้ำตาลคงเหลือในสต็อก เพื่อให้กรมการค้าภายใน สามารถติดตามดูแลปริมาณน้ำตาลในประเทศไม่ให้เกิดการขาดแคลน

พาณิชย์ ตรวจเข้มน้ำตาลทรายหวั่นกักตุน

            สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยืนยันว่า น้ำตาลทรายในประเทศไม่ขาดแคลนแน่นอน และสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากนี้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ จะส่งเจ้าหน้าที่ทั้งจากกรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค และการกักตุน หรือปฏิเสธการขาย โดยหากพบผู้ค้ารายใดกักตุน หรือปฏิเสธการขาย หรือขายราคาสูงเกินสมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.