ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคอีสาน บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นเอกภาพ ลดผลกระทบน้ำท่วม-กักเก็บน้ำรับเอลนีโญ
สทนช.เผยผลการดำเนินงานศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ภาคอีสาน บริหารจัดการมวลน้ำตามมาตรการรับมือฤดูฝนและมาตรการเพิ่มเติมรับมือเอลนีโญอย่างเคร่งครัด ลดผลกระทบพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 6 พันล้าน ลบ.ม. เพื่อสำรองไว้ใช้รับมือเอลนีโญ
3 พฤศจิกายน 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 20/2566 โดยมี นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย และกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ภายหลังการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้บูรณาการทำงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับเอลนีโญอย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าติดตาม ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จนทำให้สามารถบริหารจัดการมวลน้ำไม่ให้ไหลหลากลงมาสมทบกับพื้นที่น้ำท่วมเดิม ช่วยลดผลกระทบและความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ มีพื้นที่น้ำท่วมเพียง 0.75 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 65 ที่มีพื้นที่น้ำท่วม 3.16 ล้านไร่ แม้ว่าปีนี้จะไม่มีพายุพัดผ่านเข้าสู่ภาคอีสาน แต่อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านทำให้เกิดภาวะน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร รวมทั้งพื้นที่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลหลายพื้นที่ หากไม่มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นเอกภาพ ก็อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันระดับน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูลมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ โดยกรมอุตุฯ และ สสน. ได้คาดการณ์ฝนในช่วงวันที่ 6 - 8 พ.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก โดยพื้นที่ภาคอีสานจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20–40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันออกและตอนล่างของภาค ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในพื้นที่
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง หลังสิ้นสุดฤดูฝน เมื่อวันที่ 31 ต.ค.66 มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 7,996 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 6,346 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% ซึ่งมีปริมาณเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งปีนี้อย่างแน่นอน แต่จากการคาดการณ์ผลกระทบของเอลนีโญอาจลากยาวนาน 2 ปี จึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตระหนักในการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าด้วย
“เนื่องจากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ในวันนี้ที่ประชุมจึงมีมติให้ยุติการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะรายงานให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) รับทราบอย่างเป็นทางการต่อไป ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้บรรลุล่วงด้วยดี และขอเป็นกำลังใจให้กับประชาชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นช่วงของการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะยังคงเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสำรวจ ตรวจสอบความเสียหาย และฟื้นฟูเยียวยาโดยเร็วต่อไป”
Cr.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ