รายงานพิเศษ : ชาวต่างชาติร่วมจัดพิธีรำลึกเชิดชูความดีบรรพชนอุบลราชธานี ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี จ.อุบลราชธานี จุดประกายต่อยอดจากปี’50 จนถึงปัจจุบัน

   เมื่อ : 02 พ.ย. 2566

          จากประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 และมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานี ที่นักประวัติศาสตร์ และส่วนที่เกี่ยวข้องบันทึกรวบรวมไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจน คือ อนุสาวรีย์แห่งความดี (Monument of Merit) ที่เหล่าเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงความดีของชาวอุบลราชธานี ณ ทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  และสนามบินญี่ปุ่น สร้างโดยเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการรบให้กองทัพญี่ปุ่น ที่บ้านหนองไผ่ ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 

            ในการสืบค้น ยังมีหลักฐานเอกสารและภาพถ่ายเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ต่างประเทศ คือในพิพิธภัณฑ์ สงคราม ลอนดอน ประเทศอังกฤษ (Imperial War Museum) ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ จาก นายเรย์ วิทนอล ( Mr.Ray Withnall ) ทายาทเชลยศึกชาวอังกฤษ และได้เดินทางมาในประเทศไทย เพื่อสืบค้นงานด้านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 กับจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายชัยวัฒน์ อังคีรส เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งได้ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่าร้อยภาพ และใช้ประกอบการศึกษาเรียนรู้ต่อไป

            ประวัติ และความเป็นมาของการการจุดประกายและต่อยอดพิธีการรำลึกถึงคุณงามความดี ณ อนุสาวรีย์ความดี จังหวัดอุบลราชธานี โดยย่อดังนี้ 

            เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน ปี พ.ศ.2550 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 โดย คุณกมลวรรณ เรืองขจร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ได้ประสานกับนายปัญญา แพงเหล่า ให้ร่วมสังเกตการณ์ และบันทึกข้อมูลกิจกรรม และเชิญสื่อมวลชน และบุคคลสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี คือ นายสุวิชช คูณผล (ข้าราชการบำนาญ เทศบาล) มาเป็นตัวแทนชาวอุบลราชธานี และแทน (Lady of Ubon) และสื่อมวลชน มีนายชาญชัย จินตนกุล ทีมข่าวราชธานีเคเบิ้ลทีวี และนายสุเทพ แก้ววรสูตร บรรณาธิการวารสารหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี คุณสุรัสวดี นาคเลอร์ (ล่าม) ในการสื่อสารกับชาวต่างประเทศ

            สำหรับชาวต่างประเทศ นำโดยนายทอม พอร์ตเตอร์ (Mr.Tomas Raymond Porter) ชาวอังกฤษ ซึ่งพักอาศัยและเป็นครูสอนภาษาต่างประเทศ ที่ สถาบัน อีซีซี(ECC) สาขาอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2535 ได้ประสานกับเพื่อนชาวต่างประเทศ คือ นายโรเบิร์ด ลองริดจ์ (Mr.Robert G.F.Longridge Robert is EX-Royal Engineers British Army) นายไมค์ แขฟแมน ((Mr.Michael  Robert Chapman) และนายนีล เดวิด แอนเดอร์สัน (Mr.Noel David Anderson) ฐานะผู้แทนชาวต่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรและเพื่อนชาวต่างประเทศมาพร้อมกัน ที่ลานอนุสาวรีย์ความดี โดยมี (Mr.Robert longridge และ Mr.Trevor Baden Powell) เป็นผู้วางพวงมาลา (หรีดสีแดง) มีข้อความว่า ( We Will Remember) ณ อนุสาวรีย์ความดี และนายทอม เป็นผู้มอบช่อดอกไม้ในนามตัวแทนทายาทเชลยศึก ฝ่ายสัมพันธมิตร ให้นายสุวิชช คูณผลในนามชาวอุบลราชธานี แทน(Lady of Ubon) 

            ต่อจากนั้น ทุกคนยืนตรง สงบนิ่ง 2 นาที จากเวลา 11:00 -11:02 น.( Two Minute Silence) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของพิธีการรำลึก

          นับเป็นการริเริ่มและจุดประกายต่อยอดสืบสานการจัดงานวันรำลึกแห่งความดีของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา 

            หลังเสร็จพิธีการแล้ว มีการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ และการสัมภาษณ์ ผู้ประสานงานชาวต่างประเทศ และปรึกษาหารือ แนวทางการจัดงานให้ต่อเนื่อง โดยนายสุวิชช คูณผล และนายปัญญา แพงเหล่า เป็นตัวแทนและประสานงานเพื่อขับเคลื่อนและจัดกิจกรรม ตามแนวทางการพัฒนาเมืองด้วย “ภูมิพลังเมืองอุบล” ต่อไป

            การจัดงาน วันรำลึกแห่งความดี ปี 2551 เป็นการจัดงานอย่างเป็นทางการ โดยไม่ใช้งบประมาณของรายการและมีเครือข่ายภูมิพลังเมืองอุบล เป็นคณะขับเคลื่อน รวมทั้งหน่วยงานที่สนับสนุน คือ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มณฑลทหารบกที่ 22 องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานการท่องเที่ยวอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กองบิน 21 ตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลแขวงอุบลราชธานี สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 2 วิทยาลัยพยาบาลสมเด็จราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี โรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช โรงเรียนนารีนุกูล โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี และทหารผ่านศึก ทุกสมรภูมิ เช่นมหาเอเชียบูรพา สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสมรภูมิช่องบก 

            ในการจัดครั้งนี้ มีนายสุพล สายพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธี และได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดงาน นอกจากการตกแต่งสถานที่ คือประดับธงชาติไทย และธงฝ่ายสัมพันธมิตร มีขบวนเชิญธงชาติ จัดให้มีการจุดคบเพลิงสันติภาพ ปล่อยนกพิราบ และการแสดงดนตรี บรรเลงเพลงมาร์ช และปิดท้ายเพลงสามัคคีชุมนุม ซึ่งเป็นการจัดงานแบบสากลและแบบไทย ผสมผสาน โดยแบ่งช่วงเวลาของพิธีการออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 

            ในช่วงแรก 08:00-10:45 น. เป็นแบบไทย และช่วงสุดท้าย เวลา 10:45-11:00 น. เป็นแบบสากล โดยผู้แทนชาวต่างประเทศ จะกล่าวคำรำลึกถึงคุณความดี และยืนสงบนิ่ง 2 นาที พร้อมกันเวลา11:00-11:02 น.

            ต่อจากนั้น มีพิธีมอบโล่ความดี โดยมิสเตอร์ทอม พอร์ตเตอร์ ผู้แทนชาวต่างประเทศ ประกาศยกย่องคุณงามความดี ยายไหล ศิริโสตร์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เคยช่วยเหล่าเชลยศึกให้รอดพ้นจากอันตรายในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มี ยายรังษี ศิริโสตร์ บุตรสาวของยายไหล ศิริโสตร์ เป็นผู้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้  และกิจกรรมสุดท้ายทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ร่วมกันยืนเข้าแถวครึ่งวงกลม และร้องเพลงสามัคคีชุมนุม พร้อมถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก และประการสำคัญ ในการจัดงาน ปี 2551 ทางจังหวัดอุบลราชธานี ประกาศให้วันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันรำลึกแห่งความดี” อย่างเป็นทางการตลอดไป.

………..

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

          1 พฤศจิกายน 2566

 

หมายเหตุ : จังหวัดอุบลราชธานี เตรียมจัดงานวันรำลึกแห่งความดี ปี 2566 ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี เพื่อเชิดชูความดีต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ในวันที่อาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน นี้ เวลา 08:00-12:00 น. ณ อนุสาวรีย์ความดี ทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี.