กระทรวงกลาโหม เดินหน้านโยบายผลักดันการสมัครใจเป็นทหารใหม่สูงขึ้นทุกปี มีเงินเดือน - สวัสดิการเพียบ
หลังจากการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อตรวจเยี่ยมหน่วยฝึกทหารใหม่ กองพลทหารราบที่ 6 ค่ายพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในระดับประเทศของนโยบายเกณฑ์ทหารสมัครใจ เพราะสถิติผู้สมัครใจเป็นทหารกองประจำการสูงขึ้นทุกปี นับเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของกองทัพที่มีผู้ให้ความสนใจสมัครใจเข้าเป็นทหารในปริมาณที่สูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ในการผลักดันให้เกิดการสมัครใจ เป็นทหารกองประจำการให้มากที่สุดหรือจนถึงขั้นเป็นระบบสมัครใจโดยสมบูรณ์ในอนาคต โดยสำหรับปี 2568 นี้กระทรวงกลาโหมกำลังเปิดรับสมัครทหารกองประจำการ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2568 ซึ่งมีสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยง ประโยชน์ทางการศึกษา และการประกอบอาชีพกำลังพล
กำลังทหารเป็นส่วนหนึ่งของกำลังรบของกองทัพ โดยมีภารกิจในการรักษาอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติ หรือปฏิบัติหน้าที่ตามสิ่งที่ได้รับมอบหมาย โดยการเกณฑ์ทหารนั้น สุรชาติ บำรุงสุข (2560) แบ่งออกเป็น 5 ระบบ
1) ระบบที่ทุกคนต้องเป็นทหารทั้งหมด
2) ระบบจับฉลาก
3) ระบบทหารอาสาสมัคร
4) ระบบเกณฑ์ตามเงื่อนไขชนชั้น
5) ระบบที่บุคคลพลเรือนเข้ารับการฝึกแล้วนําอาวุธเก็บไว้ที่บ้าน และเรียกใช้เมื่อเกิดสงคราม
ไทยนำสองรูปแบบสำคัญในการสร้างกำลังทหารของไทยปัจจุบัน คือ
1) ระบบเกณฑ์ทหาร (Conscription) โดยการจับฉลาก ซึ่งนำหลักการคิดในสมัยนโปเลียนมาใช้ เนื่องจากเป็นยุคที่มีกำลังทหารมากถึง 750,000 คน อันเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของกองทัพ และ
2) แบบอาสาสมัคร (Volunteer force) ซึ่งเป็นรูปแบบที่กองทัพสหรัฐอเมริกาปรับใช้มาในสมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกซัน โดยมีหลักคิดมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนด้านกำลังคนภาครัฐให้เล็กลง เน้นทำให้บุคลากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาการเลือกปฏิบัติ
สำหรับในประเทศไทยแล้ว พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองทุกคนเพื่อป้องกันประเทศชาติโดยกำหนดนิยามของสถานะของทหารประเภทต่างๆ (มาตรา 4) ดังนี้
- ทหารกองเกิน หมายถึง ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์และยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้
- ทหารกองประจำการ หมายถึง ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการ ในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด
- ทหารกองหนุน หมายถึง ทหารที่ปลดจากกองประจำการ โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุน
อธิบายโดยง่ายก็คือ ผู้ชายทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จะต้องไปแสดงตนเพื่อลงทะเบียนทหารกองเกิน และ เมื่อเข้าสู่ระบบการเกณฑ์ หรือการเป็นอาสา เข้ารับราชการจะเรียกว่าทหารกองประจำการ และเมื่อบรรจุครบรอบราชการแล้วปลดออกก็จะกลายเป็นทหารกองหนุน
- นโยบายผลักดันให้เกิดการสมัครใจเป็นทหาร
การรับสมัครทหารแบบสมัครใจของไทยนั้น จะทำใน 2 รูปแบบ
1) กองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ กองทัพบกได้เริ่มนำมาใช้ตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม เพื่อมุ่งสู่ระบบทหารอาสาทดแทนการเรียกเกณฑ์ มาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพบก เป็นผู้ดูแลระบบ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) โดยเปิดรับสมัครผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ ทางเว็บไซต์ และหน่วยทหารใกล้บ้าน ซึ่งข้อดีคือ ผู้สมัครสามารถเลือกหน่วยทหารได้เอง โดยไม่จำกัดภูมิลำเนา ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัด แต่พักอาศัยที่กรุงเทพฯ สามารถเลือกลงหน่วยทหารที่อยู่ใกล้บ้านในกรุงเทพฯ ได้ หรือหน่วยทหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะ อย่างเช่น คนที่มีความถนัดด้านงานศิลปะ เช่น ร้องเพลง การแสดง สามารถเลือกลงกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน.ปจว.) จังหวัดลพบุรี สังกัดมณฑลทหารบกที่ 13 ได้ ซึ่งแต่ละปีจะมีหน่วยทหารที่มีจำนวนที่เปิดรับสมัครแตกต่างกันไป โดยคุณสมบัติเบื้องต้น รับสมัครชายไทยอายุ 18-20 ปีบริบูรณ์ในปีที่ตรวจเลือก และอายุ 22 - 29 ปีบริบูรณ์ในปีที่ตรวจเลือก ที่ผ่านการตรวจเลือกฯ แต่ไม่ถูกเข้ากองประจำการ ยกเว้นผู้ที่จบ รด.ปี 3 หรืออยู่ในระหว่างการนำตัวขึ้นทะเบียนกองประจำการ หรือผู้ที่ปลดออกจากกองประจำการ
2) รับสมัครในวันตรวจเลือกจริง ซึ่งวิธีการนี้ก็มีจำนวนผู้สนใจไปสมัครหน้างานกันเป็นจำนวนมาก
สถิติความสนใจเป็นทหารสูงขึ้น
ข้อมูลจากทีมโฆษกกระทรวงกลาโหมรายงานข้อมูลสถิติการสมัครกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ดังนี้
- ปี 2564 มียอดผู้สมัคร 28,572 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 3,207 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก จำนวน 25,365 คน
- ปี 2565 มียอดผู้สมัคร 29,997 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 6,652 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก จำนวน 23,345 คน
- ปี 2566 สมัคร จำนวน 35,617 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 10,156 คน และ ผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก จำนวน 25,461 คน
- ปี 2567 สมัคร จำนวน 38,160 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 14,135 คน และผูู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก จำนวน 24,025 คน
ในปี 2567 ผู้สมัครในพื้นที่ที่มีคนสมัครใจเต็มจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี อ.นาทวี จ.สงขลา อ.บางเลน จ.นครปฐม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และเขตบางแค กรุงเทพฯ ส่วนผู้สมัครโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ รวม 14,135 คน แต่เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่ามีผู้สมัครใจร้องขอในวันตรวจเลือก 25,461 คน เท่ากับลดลง 1,436 คน (-5.64%) ส่วนผู้สมัครโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ รวม 10,156 คน เท่ากับเพิ่มขึ้น 3,979 คน ( 28.15%) ทำให้ในปี 2567 มีจำนวนผู้สมัครใจร้องขอเข้าเป็นทหารกองประจำการเพิ่มขึ้นคิดเป็น 6.66%
สำหรับปีนี้ การรับสมัครทหารกองประจำการกรณีพิเศษ ด้วยวิธีออนไลน์ ยังเปิดรับสมัครต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 26 มกราคม 2568 มีโควตาสำหรับการสมัครทางออนไลน์ ราว 41,790 นาย และมีผู้เริ่มมาลงทะเบียนแล้วกว่า 2,115 คน โดยทหารประจำการจะมีสังกัด ทั้งที่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครทางอินเตอร์เน็ตได้ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ URL : https://rcm.rta.mi.th ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดก่อนกรอกแบบฟอร์มสมัคร โดยสามารถสมัครได้ตลอด 24 ชม. หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- หน่วยทหารทั่วประเทศที่สะดวกหรืออยู่ใกล้บ้านผู้สมัคร
- สำนักงานสัสดีกรุงเทพมหานคร สำนักงานสัสดีจังหวัดทุกจังหวัด หรือหน่วยงาน สัสดีเขต สัสดีอำเภอ ที่สะดวกหรืออยู่ใกล้บ้านผู้สมัครทั่วประเทศ
- ทางเว็บไซต์ HTTPS://WWW.TDC.MI.TH.HTTPS://SASSADEE.RTA.MI.TH
- ทาง Facebook กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
- กองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน 02-223-3259
- สวัสดิการ และการดูแลความเป็น #น้องคนเล็กของกองทัพ
สำหรับสิทธิและสวัสดิการทหารใหม่เป็นไปตามนโยบาย เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจ ได้แก่
- เงินเดือนรวมค่าครองชีพรวม 11,000 บาท/เดือน และได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ชายแดนหรือพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงสวัสดิการในการเยี่ยมคลอดบุตร 2,000 บาท
- ได้รับแจกจ่ายเครื่องแต่งกายและของใช้ส่วนตัว
- สามารถสมัครอยู่ต่อได้คราวละ 1 ปี ไปจนถึงอายุไม่เกิน 30 ปี และเมื่อจะสมัครสอบเข้ารับราชการใน ทบ. จะได้รับคะแนนเพิ่มพิเศษอีกร้อยละ 5 ต่อครั้งที่ขออยู่ต่อ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการขออยู่ต่อ
- โควต้าสอบนักเรียนนายสิบทหารบก รับอัตราส่วนทหารกองประจําการ 80% และมีโอกาสต่อยอดไปสู่การเป็นนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อย จปร. ได้ในอนาคต
- การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับทหารกองประจำการที่มีความสนใจทั้งในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย
- การจัดฝึกอบรมทักษะอาชีพในด้านต่างๆ ให้กับทหารกองประจำการ ทำข้อตกลงด้านการศึกษาระหว่างทหารประจำการ ที่กระทรวงกลาโหมได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ สถาบันคุณวุฒิฯ เมื่อวานนี้ เพื่อกำหนดสายการศึกษาให้ตรงต่อความต้องการ เช่น สายช่าง สายสามัญหรือการเรียนผ่าน กศน. ในกองทัพเพื่อให้น้องๆ ที่เข้ามาอยู่ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี ได้มีโอกาสรับคุณวุฒิ หรือประกาศนียบัตร ในการไปสมัครงาน หรือประกอบอาชีพ หรือสมัครเข้ารับราชการกับกองทัพต่อไป
- สิทธิการรักษาพยาบาล และประกันชีวิต สำหรับทหารกองประจําการ
นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญที่สังคมไทยให้ความสำคัญ คือ การดูแลทหารใหม่ ในเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร ไม่ให้มีการเสียชีวิตในค่ายทหารจากการลงโทษที่รุนแรง การล่วงละเมิด รังแก และการเอารัดเอาเปรียบเก็บเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากพลทหาร โดยนโยบายกองทัพ คือ สร้างกลุ่ม Line หรือหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยทหารนั้นๆ เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ คลายความกังวลใจ และติดตามบรรยากาศการฝึกได้ตลอดเวลา เพื่อให้เห็นถึงความโปร่งใสในการดูแลทหารใหม่ โดยในกลุ่มไลน์แต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วย 7 กลุ่มบุคลากรที่รับผิดชอบการฝึกทหารใหม่ จะเป็นผู้ที่อยู่กับทหารใหม่ในหน่วยฝึกทหารใหม่ตลอด 24 ชม.
1. ผู้อำนวยการฝึก : ผู้บังคับหน่วยที่จัดตั้งหน่วยฝึกในระดับกองพันขึ้นไป ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแลและรับผิดชอบการดำเนินการในด้านต่างๆ
2. ผู้บังคับหน่วยฝึก : นายทหารสัญญาบัตรอาวุโสด้วยคุณวุฒิ ที่มีชั้นยศสูงกว่าผู้ฝึก ซึ่งโดยปกติจะเป็นผู้บังคับกองร้อยที่เป็นที่ตั้งของหน่วยฝึกทหารใหม่ มีหน้าที่อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแลและสนับสนุนการฝึก รวมทั้งงานด้านธุรการ
3. ผู้ฝึกทหารใหม่ : นายทหารสัญญาบัตรของหน่วย (ชั้นยศร้อยตรีหรือร้อยโท) ที่เป็นผู้บังคับหมวด และมีประสบการณ์ในการฝึก โดยจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการฝึกในหน่วยฝึกทหารใหม่ในภาพรวมทั้งกำลังพล สถานที่และสภาวะแวดล้อมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามมาตรฐานการฝึกที่กองทัพบกกำหนด
4. ครูฝึก (ครูนายสิบ) / ผู้ช่วยครูฝึก (ทหารกองประจำการ) : ผู้ที่ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการฝึก เพราะเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและอบรม เพื่อให้มีความพร้อมและสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับน้องๆ ทหารใหม่ ตลอด 24 ชม. โดยกองทัพบกได้กำหนดให้มีอัตราส่วนที่เหมาะสม คือ ครูฝึก (นายทหารชั้นประทวนของหน่วย) : ผู้ช่วยครูฝึก (ทหารกองประจำการที่ผ่านการฝึกและมีเวลาในหน่วยครบ 1 ปี) : ทหารใหม่ = 1 : 1 : 8 นาย
5. ชุดเสนารักษ์ : เจ้าหน้าที่เสนารักษ์ของหน่วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายทหารในพื้นที่ ที่จะร่วมประเมินปัจจัยและสภาพแวดล้อมของการฝึกให้มีความเหมาะสม ตลอดจนสามารถปฐมพยาบาลให้การช่วยเหลือในทันที เพื่อลดการบาดเจ็บและอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
6. เจ้าหน้าที่สูทกรรมของหน่วย : ผู้รับผิดชอบดูแลด้านโภชนาการ พิจารณาจัดการประกอบเลี้ยงอาหารให้กับน้องทหารใหม่ในทุกมื้ออย่างมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน สะอาดและถูกหลักอนามัย
7. อนุศาสนาจารย์ นายทหารพระธรรมนูญ : ผู้ที่จะร่วมกับเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ในการดูแลสุขภาวะทางจิตใจของทหารใหม่ในหน่วยฝึก โดยจะคอยเป็นที่ปรึกษา รับฟังปัญหา และให้ข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ เพื่อลดความกังวลใจและสร้างความผ่อนคลายให้กับทหารใหม่