รอบรู้สุขภาพ : การกลั้นปัสสาวะ เสี่ยงกรวยไตอักเสบ
วิถีชีวิตสังคมปัจจุบันดำเนินไปด้วยความเร่งรีบ โดยเฉพาะสังคมเมืองใหญ่เวลาในแต่ละวันอยู่แต่กับการงานที่เร่งด่วน หลายคนทำงานจนลืมเรื่องสำคัญแม้แต่การเข้าห้องน้ำ บ่อยครั้งหลายคนจำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะ เพราะสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าห้องน้ำ
บางคนไม่ชอบดื่มน้ำระหว่างการทำงานเพราะรู้สึกว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อย และด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้จำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะ เช่น ติดภารกิจสำคัญกับลูกค้า กำลังประชุมนัดสำคัญ หรือในการเดินทางขณะที่รถติดหนัก เป็นต้น คุณรู้หรือไม่ว่าการกลั้นปัสสาวะนานๆ และบ่อยครั้ง ไม่ใช่แค่กระเพาะปัสสาวะจะอักเสบอย่างเดียว แต่อาจทำให้เกิดกรวยไตอักเสบได้
“กรวยไต” เป็นท่อที่รวบรวมน้ำและของเสียที่ไตกรองออกมา ส่งต่อให้กับท่อไต เพื่อส่งไปยังกระเพาะปัสสาวะ การปัสสาวะ คือ ระบบการระบายของเสียออกจากร่างกาย ฉะนั้นการกลั้นปัสสาวะก็เหมือนการกักของเสียไว้ในร่างกาย ถ้าปล่อยไว้นานและทำบ่อยๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยเชื้อที่ตรวจพบบ่อย เป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ ได้แก่ อีโคไล (E.coli) เคลบซิลลา (Klebsiella) สูโดโมแนส (Pseudomonas)
นอกจากนี้ ในบางรายเชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายโดยทางกระแสเลือดได้ ผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย โดยพบในเด็กผู้หญิงหรือหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือผู้ที่เคยสวนปัสสาวะมาก่อน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือกินสเตียรอยด์นานๆ มีโอกาสเป็นได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้มีอาการไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น ปวดบริเวณสีข้าง หรือเอวด้านใดด้านหนึ่ง บางคนอาจมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย (หัวหน่าว) ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย แสบหรือขัด และมีปัสสาวะขุ่น อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลียร่วมด้วย ถ้ามีอาการลักษณะเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
หากไม่อยากเสี่ยงกับโรคดังกล่าวข้างต้น อย่ากลั้นปัสสาวะ ควรดื่มน้ำมากๆ วันละ 3 - 4 ลิตร น้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออกจากกระเพาะปัสสาวะ ฝึกถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวดจนเป็นนิสัย ชำระล้างโถส้วมให้สะอาดเสมอ หลังถ่ายอุจจาระควรชำระทวารหนักให้สะอาด การใช้กระดาษชำระต้องเช็ดจากข้างหน้าไปข้างหลังจนสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักปนเปื้อนเข้าท่อปัสสาวะ
หากเป็นโรคนี้แล้วควรใช้ยาลดไข้ และยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ กินยาครบตามขนาดที่แพทย์แนะนำ รักษา 2 - 3 วัน แล้วยังไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อย ซีด เหลือง หรือสงสัยโลหิตเป็นพิษ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล และเมื่อรักษาจนอาการหายดีแล้ว ควรไปพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจปัสสาวะให้แน่ใจว่าไม่มีการอักเสบเรื้อรัง
เมื่อเรามีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบต้องรักษาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลามขึ้นไปที่กรวยไต อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นพิษและโรคร้ายแรงอื่นตามมา จะรักษายากยิ่งขึ้นนะคะ.