“พวงเพ็ชร” จี้ สคบ.คุมเข้มขายของออนไลน์ สินค้าต้องตรงปก พร้อมเตรียมงัด กม.บล็อก ผู้ประกอบการหัวใส

   เมื่อ : 25 ต.ค. 2566

          25 ต.ค.66 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 7/2566 โดยมี นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ ร่วมประชุม

          ที่ประชุมได้รายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภค โดยจากสถิติการร้องทุกข์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการรับเรื่องร้องทุกข์ 2,250 เรื่อง ทาง สคบ. ได้มีการแก้ไขปัญหาแล้ว จำนวน 1,002 เรื่อง สำหรับผู้บริโภค 1,063 ราย เป็นเงิน 19,551,023.34 บาท ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 6 เรื่อง เป็นเงิน จำนวน 1,246,192.28 บาท ดำเนินคดีด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 16 เรื่อง โดยแบ่งเป็นด้านสัญญา จำนวน 6 เรื่อง เป็นเงิน 19,180 บาท ด้านสลาก 10 เรื่อง เป็นเงิน 553,593 บาท รวมการดำเนินคดีทั้งสิ้น คิดเป็นเงินจำนวน 1,818,965.28 บาท 

          รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตนมองว่า สคบ. เป็นหน่วยงานที่มีภาระงานเยอะมาก มีเรื่องร้องทุกข์เข้ามาทุกวัน แต่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีน้อย ไม่สอดคล้องกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ จึงอาจถูกมองว่าการทำงานไม่ทันต่อการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ขณะที่มีจำนวนผู้บริโภคร้องทุกข์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน จึงแนะนำให้มีการนำเอาระบบ IT มาประยุกต์ควบคู่กับการทำงาน ตอบสนองการช่วยเหลือผู้บริโภครวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ โดยอาจดูแนวทางการจัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันควรมีการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและการทำงานของ สคบ. โดยใช้เครื่องมือ Social media ให้เป็นประโยชน์ และมีมาตรการในการป้องกันการเกิด Fake news ที่สร้างความเข้าใจผิด โดยต้องมีการแก้ข่าวตอบโต้ได้ฉับไว อาศัยเครือข่ายสื่อภาครัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค.

Cr.ทำเนียบรัฐบาล